AIS อุ่นใจ Cyber ชี้ 5 คำลวงยอดฮิตของมิจฉาชีพ ชนวนเหตุภัยไซเบอร์ที่ต้องรู้เท่าทัน ชวนคนไทยหยุดคำโกหก หยุดสร้างข่าวปลอม ในวัน April Fool’s Day ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันเสริมทักษะดิจิทัลที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์

22


มิติหุ้น – วันโกหก หรือ April Fool’s Day กลายเป็นอีกหนึ่งวันที่หลายคนมักจะใช้ในการแกล้งหรือหลอกลวงกันโดยมองว่าเป็นเพียงแค่มุขตลกที่สามารถทำได้เพียงเพราะเป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางคนที่ใช้ช่วงเวลาของวันโกหกอย่างเกินขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคำหลอกลวง สร้างเรื่องเท็จ ข่าวปลอม จนทำให้เกิดความเสียหายในหลายด้าน เนื่องในวันโกหกปีนี้ AIS อุ่นใจCyber ขอเป็นกระบอกเสียงในการชวนคนไทยหยุดการโกหก หยุดสร้างข่าวปลอม พร้อมชี้ข้อมูลสำคัญรู้เท่าทัน 5 คำลวงยอดฮิตของกลุ่มมิจฉาชีพสาเหตุสำคัญของภัยไซเบอร์ที่คนไทยต้องรู้เท่าทันการหลอกลวง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเสริมทักษะด้านดิจิทัลที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ล้วนเกิดขึ้นจากการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพที่วันนี้มีรูปแบบวิธีการสารพัดในการสร้างคำโกหก สร้างผลกระทบทางด้านจิตใจหรือแม้แต่ทรัพย์สินเงินทองของผู้คนในสังคมจำนวนมาก AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้าน Digital Service เราเฝ้าติดตามและทำงานเพื่อช่วยเหลือดูแลลูกค้าในการแนะนำและร่วมจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด กับภารกิจของ AIS อุ่นใจCyber ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายในการสร้างโซลูชั่นเพื่อป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันด้วยหลักสูตรการเรียนรู้เสริมทักษะด้านดิจิทัล และการสื่อสารเพื่อสร้างการรู้เท่าทันจากคำหลอกลวงและภัยไซเบอร์รูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันโกหก หรือ April Fool’s Day ที่หลายคนอาจจะชอบแกล้ง หรือหยอกล้อกันในกลุ่มเพื่อนด้วยการโกหกกันแบบขำๆ บนโซเชียล จนบางครั้งก็กลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มมิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสใช้สถานการณ์นี้เพื่อหลอกลวงคนที่รู้ไม่เท่าทัน ทำให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์”
แน่นอนว่า AIS อุ่นใจCyber ไม่มองข้ามในประเด็นนี้ เพราะเราเชื่อว่าหนึ่งในวิธีการรับมือกับภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ คือการมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อให้เราตระหนักรู้ และเข้าใจการใช้ออนไลน์อย่างถูกวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5 เรื่องที่เป็นคำหลอกลวงยอดฮิตของกลุ่มมิจฉาชีพที่ทุกคนต้องรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีจากคำโกหกทุกรูปแบบในทุกช่องทาง

  • ทำให้คนดีใจ ตื่นเต้น จนขาดความรอบคอบ มักจะมาในรูปแบบของ SMS สแปม เช่น “ยินดีด้วยคุณได้รับเงินกู้ 200,000 บาท แล้วให้คลิกไปที่เว็บไซต์เพื่อให้กดโอนเงินหรือล้วงข้อมูลส่วนตัว
  • ใช้คำที่ทำให้ตกใจ มักจะมาในรูปแบบของป๊อปอัพหน้าเว็บไซต์ หรือ e-Mail เช่น บัญชีของคุณถูกบล็อก กรุณากดลิงก์เพื่อตรวจสอบ ซึ่งจะนำไปสู่ลิงก์ปลอมที่ทำให้เราอาจจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ
  • ปลอมเป็นคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานต่างๆ มักมาในรูปแบบของการสร้างความวิตกกังวลผ่านการโทร โดยมิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้เราโอนเงินชำระเพื่อจัดการกับปัญหา เช่น มีพัสดุตกค้าง มีคดีความ เป็นต้น
  • ทำให้คิดว่าได้รับสิทธิพิเศษ มักมาในรูปแบบของการฟิชชิ่ง ให้เรากดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิพิเศษสำหรับเราโดยเฉพาะ และแน่นอนว่านั่นคือลิงก์ปลอม
  • หลอกให้รักแล้วจากไป มักมาในรูปแบบของแชท ผ่านการปลอมตัว เพื่อพูดคุย ทำความสนิทสนมและลวงให้โอนเงิน

นางสายชล กล่าวในช่วงท้ายว่า “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้การใช้งานมือถือทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์เต็มไปด้วยกลุ่มมิจฉาชีพที่สร้างข้อมูลเท็จ สร้างคำหลอกลวงด้วยรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ จนเกิดเป็นอาชญากรรม
ไซเบอร์อยู่ตลอดเวลา เราในฐานะผู้ให้บริการและเพื่อนคู่คิดดิจิทัลของคนไทย จึงขอเป็นอีกพลังในการเตือนภัยให้คนไทยรู้เท่าทันคำโกหก ไม่ตกเป็นเหยื่อจากภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ และอย่าให้วันโกหกกลายเป็นวันที่มิจฉาชีพมาหลอกลวงเราได้อีก”
 
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp