“ PJW ” เซ็น MOU “ EA ” เดินเกมรุกธุรกิจ EV จ่อผลิตเปลือกแบตเตอรี่ – ระบบหล่อเย็นแบตเตอรี่ – ระบบหล่อเย็นมอเตอร์

232

มิติหุ้น  –   บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (“PJW”) สบช่องโอกาสการลงทุนทางธุรกิจ เร่งเดินหน้าต่อยอดธุรกิจ EV ล่าสุด เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ “EA” เพื่อการวิจัยและพัฒนาเปลือกแบตเตอรี่ – ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงที่มีความทนทานต่อความร้อนและมีคุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนสูง รวมถึงทนต่อปฏิกิริยาเคมีได้ดี ทั้งนี้เพื่อลดน้ำหนักของแบตเตอร์รี่ ทำให้รถน้ำหนักเบาลง สามารถวิ่งได้ระยะทางต่อการชาร์จ 1 ครั้งมากขึ้น สามารถลดจำนวนการชาร์จและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้ดี นอกจากนี้ ด้วยน้ำหนักที่เบาลงรวมถึงจำนวนการชาร์จที่น้อยลง จะสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นจากที่ปกติรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ระบุเตรียมผลิตแบบจำลอง (Prototype)ภายในปีนี้ และเริ่มผลิตพาณิชย์ในปี 2566 มั่นใจโกยยอดขายปีแรกเข้ากระเป๋าไม่ต่ำว่า 100 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ภายในปี2569
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ “PJW” เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “EA” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนาเปลือกแบตเตอรี่ ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถช่วยลดอุณหภูมิการทำงานของแบตเตอร์รี่ให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 20-40 องศาเซลเซียส และทนปฏิกิริยาเคมีได้ดี เข้ามาทดแทนส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Vehicle) ที่มาจากโลหะ เพื่อลดน้ำหนักของรถ สามารถเพิ่มระยะทางการวิ่งของรถ และลดจำนวนการชาร์จช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม
โดยบริษัทฯคาดว่าจะสามารถผลิตแบบจำลอง (Prototype) ได้ภายในปี2565นี้  ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเพื่อผลิตเปลือกแบตเตอรี่ ระบบหล่อเย็นสำหรับแบตเตอรี่ และระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน ด้วยพลาสติกคุณภาพสูงสำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ในปี 2566 โดยคาดว่าจะมียอดขายในปีแรกไม่ต่ำว่า 100 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท ภายในปี2569
“ต้องขอบคุณทาง “EA” ที่ต้องการเห็นการพัฒนาของทั้งระบบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรถ แบตเตอรี่ การขับเคลื่อน สถานีชาร์จ และส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการสนับสนุนให้มีการผลิตในประเทศไทยด้วยคนไทย เพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย ซึ่ง “PJW” ก็เป็น Supply Chain หนึ่งในบริษัทคนไทย หากสามารถผลิตชิ้นส่วนต่างๆของรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว เราก็มีโอกาสที่จะทำทั้งในส่วนของการทดแทนการนำเข้า และ การส่งออกได้ในอนาคต ” ประธานกรรมการบริหาร กล่าว
 
ทั้งนี้ ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car) ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีชิ้นส่วนพลาสติก ที่บริษัทฯผลิตและจำหน่าย มีอยู่ทั้งหมด 3 ส่วน แบ่งเป็น 1.)อุปกรณ์ห้องเครื่องยนต์ สัดส่วน 10-20 %                      2.)อุปกรณ์ตกแต่งภายนอก สัดส่วน 40- 50 % และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน สัดส่วน 30-40 % หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนสู่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า (EV Car) จะส่งผลให้อุปกรณ์ในห้องเครื่องหายไปเกือบทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนหลัก70-90 % คือ อุปกรณ์ตกแต่งภายใน และ อุปกรณ์ตกแต่งภายนอก ยังคงมีอยู่ ซึ่ง “PJW” ได้รับผลกระทบไม่มากนัก จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้มองหาการเติบโตเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสู่พลังงานไฟฟ้า(EV Car) โดยในปี2566  บริษัทฯได้เตรียมที่จะนำองค์ความรู้ (Know-how) ที่ได้จากการพัฒนาส่วนประกอบในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มาต่อยอดเพื่อพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้า โดยเฉพาะเปลือกแบตเตอรี่ที่มาจากพลาสติกคุณภาพสูง สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าที่สามารถวางแบตเตอรี่ได้เฉพาะใต้ท้องรถ และ มีการออกแบบจัดวางพื้นที่ในเชิงของวิศวกรรม ส่งผลให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้ามีจำนวนการใช้โลหะต่อกิโลวัตต์มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ถึงเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังมีแผนในการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนพลาสติกในระบบหล่อเย็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รวมไปถึงชิ้นส่วนพลาสติกในระบบระบบหล่อเย็นสำหรับมอเตอร์ขับเคลื่อน เพื่อที่จะให้มีการทำงานในอุณหภูมิที่เหมาะสม และช่วยน้ำหนักของรถลง โดยตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก โดยมีการประมาณการว่าในปี 2567 จะมีจำนวน 150,000-200,000  คัน และในปี 2568 จะมีจำนวน 250,000- 300,000  คัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แบตเตอรี่และระบบหล่อเย็นจำนวนมาก หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และในอนาคตตลาดมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นเป็น 4,000-5,000  ล้านบาท ตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนให้มีการผลิตได้ครบ1 ล้านคัน ภายในปี 2573
ประธานกรรมการบริหาร กล่าวทิ้งท้ายว่า การร่วมมือกับ “EA” ในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจของ“ PJW ” สู่การบุกธุรกิจ EV อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆในการขยายตัวทางธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่ง และยังสามารถเพิ่มขีดการแข่งขันและยกระดับของบริษัทฯ ในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกยานยนต์ ที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐานระดับโลก สอดรับกับยุคการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) พร้อมทั้งเชื่อว่าเทรนด์การใช้รถ EV ในประเทศไทย สามารถเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ได้อีกมาก จากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
 
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp