กลุ่มทิสโก้แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 กำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท และมีระดับเงินสำรองที่แข็งแกร่งถึง 262%

35

มิติหุ้น  –  นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ของปี 2565 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,795 ล้านบาท เติบโต 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการปรับลดค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ด้วยระดับ NPLs ที่ลดลงกว่า 571 ล้านบาท มาอยู่ที่ 2.15% ต่อสินเชื่อรวม จาก 2.44เมื่อสิ้นปี 2564 โดยบริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างตรงจุด ด้านธุรกิจสินเชื่อกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 2 ปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ หนุนให้เกิดความเชื่อมั่นในการขยายสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง กลุ่มทิสโก้ยังคงนโยบายการทำธุรกิจอย่างรอบคอบรัดกุม (Prudent) โดยรักษาระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่แข็งแกร่งถึง 262% และระดับเงินกองทุน BIS Ratio ที่ 24%
เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้แม้จะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในประเทศ จากการที่ประชาชนเริ่มปรับตัวคุ้นชินกับโควิด-19 และการเตรียมปรับให้โควิด-19 ออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แต่ภาพโดยรวมของเศรษฐกิจยังเป็นการฟื้นตัวที่ไม่แข็งแรงและไม่ทั่วถึง ดังนั้น ทิศทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในไตรมาสที่ 2 จะยังคงดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวังมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพลูกหนี้ต่อเนื่องและตรงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจ SMEs โครงการคืนรถจบหนี้ การเปิดแพลตฟอร์ม KhumCar เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าขายรถปิดหนี้ เป็นต้น  รวมถึงเดินหน้ายกระดับการให้บริการลูกค้าแบบผสมผสาน (Hybrid Advisory) ระหว่างจุดแข็งของความเชี่ยวชาญในด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดีกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าบนพื้นฐานของความเข้าใจ (Empathy) และเป็น Brand ที่ลูกค้าไว้วางใจในระยะยาว” 
โดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มทิสโก้สามารถคว้ารางวัลองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในกลุ่มธุรกิจการเงิน (Thailand’s Top Corporate Brands 2021) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะองค์กรที่พัฒนาแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลัก ESG (Environment-Society-Governance) ที่คำนึงถึงการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี ควบคู่กับการเติบโตขององค์กร โดยนอกเหนือจากพันธกิจในการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้าในเชิงธุรกิจแล้ว กลุ่มทิสโก้ยังมีปณิธานที่จะเป็นผู้แนะนำทางการเงินแก่สังคมไปพร้อมกัน ผ่านหลากหลายโครงการและกิจกรรม เช่น ค่ายการเงิน ฉลาดเก็บฉลาดใช้ เป็นต้น รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในแนวคิด Green Economy ของทางภาครัฐ โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ด้วยการร่วมกับพันธมิตรค่ายรถยนต์ต่างๆ ให้การสนับสนุนการขายและการบริการ รวมถึงประกันภัย เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารทิสโก้ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สรุปผลประกอบการสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2565 
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า จากค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง สำหรับรายได้จากการดำเนินงานรวม อ่อนตัวลง 13.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1.6% จากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 31.8% สาเหตุหลักมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนตามภาวะตลาดที่ผันผวน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนลดลง 36.6% จากไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้าที่มีการออกกองทุนใหม่ขนาดใหญ่ รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 9.2% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง ประกอบกับมูลค่าเงินลงทุนลดลงตามความผันผวนของสภาวะตลาดทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจากเงินลงทุนที่ตีมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุนจำนวน 32 ล้านบาท เทียบกับผลกำไรจำนวน 313 ล้านบาทซึ่งรับรู้ในไตรมาส 1 ปี 2564  อย่างไรก็ดี ธุรกิจนายหน้าประกันภัยเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว 
สำหรับผลประกอบการเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2564 กำไรสุทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาสก่อนหน้า โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานลดลง 8.7% สาเหตุหลักมาจากการบันทึกค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ในไตรมาส 4 ปี 2564 ประกอบกับการชะลอตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 1.5% และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่อ่อนตัวลง 1.3% ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนขยายตัว 15.1% จากธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 13.0% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.2% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ  โดยกลุ่มทิสโก้มีสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงอย่างมากจำนวน 571 ล้านบาทจากสิ้นปีก่อนหน้า หรือคิดเป็น NPL Ratio ที่ลดลงจาก 2.44% มาอยู่ที่ 2.15% ของสินเชื่อรวม และมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 262.1%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 203,553 ล้านบาท เติบโต 0.3% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อ SMEs และในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 17.1% 
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 24.3% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.9% และ 4.4% ตามลำดับ
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp