มิติหุ้น – บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ เผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง มีรายได้จากการขายรวม 1,256 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 41,509 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 520 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,247 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 71 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 596 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,693 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 117 จากปีก่อนหน้า อันเป็นผลจากความสามารถในการปรับตัว เพื่อตอบรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่กระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานและเศรษฐกิจระดับมหภาค รวมทั้งกระแสเงินสดจากพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Sunseap Group ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น พร้อมเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ทั้งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน รวมทั้งหาโอกาสสร้าง New S-Curve ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา เราสามารถสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งจากภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโลกและความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูง โดยมีกระแสเงินสดที่เติบโตจากทั้งจากธุรกิจที่มีอยู่และจากธุรกิจที่เข้าไปลงทุนเพิ่มใหม่ ๆ บ้านปูยังคงมุ่งเดินหน้าสร้างการเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์พลังงานโลกอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ (Antifragile) จากปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงาน ภาวะความไม่สงบทางการเมืองในยุโรป อัตราดอกเบี้ยและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของกลุ่มบ้านปูในการรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งบ้านปูยังหาโอกาสสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังที่เห็นจากความสำเร็จในการลงทุนที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา”
สำหรับการเดินหน้าในการสร้างการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ทางด้านธุรกิจเหมือง ยังคงรักษากำลังการผลิตและปริมาณสำรองที่ดีเพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการในตลาดและคว้าโอกาสที่จะสามารถสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คว้าโอกาสจากสถานการณ์ราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น และมองหาโอกาสต่อยอดการลงทุนจากแหล่งก๊าซต้นน้ำไปยังธุรกิจกลางน้ำ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป มุ่งเน้นเสริมสร้างประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ด้วยความยืดหยุ่นจากราคาต้นทุนพลังงานที่มีความผันผวนควบคู่กับการขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีการขยายการลงทุนในตลาดกลยุทธ์สำคัญที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ยังคงเน้นการสร้างอัตราการเติบโตให้พอร์ตเทคโนโลยีพลังงานที่มีอยู่ รวมทั้งลงทุนและพัฒนาโซลูชั่นหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบใหม่ และเสริมสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจที่มีอยู่กับธุรกิจใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เมืองอัจฉริยะ โซลาร์ลอยน้ำ และระบบการบริหารจัดการพลังงาน และยังเดินหน้าขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา ขนาด 5.9 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย และการเดินหน้าโครงการ Summer Lasalle เฟส 3 ในกรุงเทพมหานคร ขนาด 982 กิโลวัตต์
“นอกจากการมุ่งสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เรายังคงศึกษาโอกาสที่จะเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาว หรือ New S-Curve ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เทรนด์แห่งอนาคตและสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นของเราในระยะยาว” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp