อสมท เผยทิศทางธุรกิจ รุกสื่อวิทยุ ดันรายได้โต

40

มิติหุ้น  –  รศ. เกษมศานต์  โชติชาครพันธุ์  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า“ทิศทางการบริหารคอนเทนท์ของ บมจ.อสมท ยังคงมุ่งเน้นการนำเสนอรายการข่าว สาระ  ภายใต้แนวคิด 2022,  The year of Trusted News สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจภายหลังจาก บมจ.อสมทประมูลคลื่นความถี่วิทยุในระบบเอฟเอ็ม รวมจำนวน 47 คลื่น แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และภูมิภาค จำนวน 41 คลื่น  ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระดับชาติ เนื่องจากมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ (Network Coverage Area) ทุกภูมิภาค เริ่มใช้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 4เมษายน 2565  มีระยะเวลา 7 ปี เดินหน้าตอกย้ำผู้นำธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละคลื่นวิทยุที่ บมจ.อสมท บริหารมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของทุก Segment เช่น FM 95 ลูกทุ่งมหานคร เป็นต้น ขณะเดียวกันยังเร่งเติมรายได้จากการจัดอีเวนท์ ซึ่งที่ผ่านมาชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด – 19 เชื่อว่าธุรกิจวิทยุยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพียงแต่ต้องหาโมเดลการสร้างรายได้ที่เหมาะสม พร้อมกับการขยายช่องทางการรับฟังผ่านออนไลน์   เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมและโฆษณา อย่างเช่น Mellow Pop แพลตฟอร์มเพลงอันดับ 1 สายติ่ง สายไอดอล มุ่งเจาะกลุ่มวัยรุ่น สร้าง Community ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ มั่นใจผลการดำเนินงานปี 2565จะเติบโตดีกว่าปี 2564  จากแผนเร่งสร้างรายได้”

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 มีรายได้รวม จำนวน 307 ล้านบาท ลดลงร้อยละ15  เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน สร้างรายได้สูงสุดให้กับ บมจ. อสมท ในไตรมาสนี้  โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564  เนื่องจากมีผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ เพิ่มขึ้น คือ T Sports 7 ช่อง หมายเลข 7 โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ประเทศด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จากส่วนแบ่งรายได้โฆษณาผ่าน Social Platform (YouTube และ Facebook) ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนรายได้จากการเป็นผู้จัดจำหน่าย content ในแพลตฟอร์มอื่นทั้งใน  และต่างประเทศ (Content Business) และรายได้จากการขายสินค้า  (Shop Mania) นอกจากนี้ในเดือนมีนาคม 2565  ตั้งเป้ารายได้จากการให้เช่าใช้ทรัพย์สิน (ห้องสตูดิโอและห้องควบคุมออกอากาศ) เป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่เพิ่มขึ้น  ส่วนธุรกิจโทรทัศน์ และ ธุรกิจวิทยุ มีรายได้ลดลงตามสถานการณ์ตลาดที่มีการใช้เม็ดเงินในสื่อดั้งเดิมลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ปี 2564 โดยงบโฆษณาของทั้งอุตสาหกรรมโทรทัศน์ลดลง ร้อยละ 4 ส่วนวิทยุลดลง ร้อยละ 3

 

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp