CADT DPU ลงนาม TAI หวังตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานการบินยุโรป พร้อมแลกเปลี่ยนบุคลากร พัฒนาหลักสูตร ฝึกปฏิบัติ ฝึกอบรม เตรียมกำลังคนป้อนอุตสาหกรรมการบินหลังเปิดประเทศ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาคึกคักและเติบโตมากขึ้น

30

มิติหุ้น – ตามนโยบายผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับอุตสาหกรรมการบินให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากซบเซามาตลอด 3 ปีในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

คาดปริมาณเที่ยวบิน พ.ค. 40,000 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าหลังจากนี้จะมีการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย โดยตลอดทั้งเดือนพฤษภาคม 2565 คาดว่า จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 40,000 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 1,300 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 7% จากเดือนเมษายน 2565 โดยนโยบายผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศนี้จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

ด้วยอุตสาหกรรมการบิน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น เมื่อเปิดประเทศการเตรียมพร้อมบุคลากร กำลังคนในสายอุตสาหกรรมการบินจึงต้องยังคงผลิต พัฒนาอย่างต่อเนื่อง  “วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) ร่วมกับสถาบันการบิน (DAA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU” สถาบันการศึกษาที่นอกจากพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับคุณภาพและมาตรการของอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์แล้ว ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติให้แก่บุคลากรด้านการบิน ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน

CADT ผนึก TAI พัฒนานักศึกษาและบุคลากรด้านการบิน

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) และผู้อำนวยการสถาบันการบิน มธบ. (DAA) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท  THAI AEROSPACE INDUSTRIES จำกัด (TAI) โดย ดร.ชิตพงษ์ อัยสานนท์ กรรมการผู้บริหารระดับสูงของ TAI ร่วมลงนาม เพื่อพัฒนานักศึกษาและบุคลากรด้านการบินให้มีความรู้ ประสบการณ์ และทัศนคติที่พร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมการบินระดับภูมิภาคและระดับโลก สอดคล้องกับการส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านการบิน ตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการฝึกอบรม ส่งเสริม และสนับสนุนบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินให้มีการวางแผน การจัดกิจกรรมนักศึกษา  จัดการศึกษาร่วมกัน สนับสนุนสื่อการสอน งานวิจัยในการจัดการศึกษา และการฝึกอบรมต่างๆ โดยจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และหลักสูตรฝึกอบรม ให้เป็นไปตามมาตรฐานหน่วยงานความปลอดภัยการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) โดยเพิ่มจากเดิมที่ CADT DPU เป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA)

เปิดโอกาสนศ.ฝึกงานมาตรฐาน EASA และ FAA

น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) และผู้อำนวยการสถาบันการบิน (DAA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า TAI มีภารกิจหลากหลาย ทั้งการซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรด้านการบิน และเป็นตัวแทนการผลิตบุคลากรตามมาตรการ EASA และ FAA ซึ่งแตกต่างจาก CADT DPU ที่ใช้มาตรฐาน IATA  ดังนั้น จะเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติ ที่สำคัญจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีใบประกาศนียบัตร EASA หรือ FAA ซึ่งสามารถไปใช้ในการสมัครงานได้ทั่วโลก รวมถึงอนาคตอาจจะเป็นศูนย์ทดสอบภาคพื้นของไทย มาตรฐาน EASA หรือ FAA ระหว่าง CADT / DAA และ บริษัท TAI

“จากการหารือเบื้องต้น คาดว่าจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้านบริการสำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน  ซึ่งทางบริษัท TAI ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของ CADT จะมีการออกไปฝึกสหกิจ นอกเหนือจากการเข้าสอบในสาขาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ที่ทาง CADT จัดให้นักศึกษาเป็นประจำทุกปี โดยจะเปิดสอบอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 27 พ.ค. นี้ ซึ่งเป็นการสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หากนักศึกษาสอบผ่านก็จะได้รับประกาศนียบัตรจาก TPQI  และหากได้เข้าร่วมโครงการของทางบริษัท TAI ก็จะทำให้นักศึกษามีโอกาสไปทำงานในสายการบินทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น” คณบดีวิทยาลัย CADT กล่าว

แลกเปลี่ยน-พัฒนาศักยภาพบุคลากรการบิน

สำหรับการแลกเปลี่ยนบุคลากรนั้น ขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน กำลังหารือร่วมกัน โดยจะนำร่องในการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงานให้มีมาตรฐานการฝึกอบรมสากล ICAO, EASA, FAA และ IATA  เพื่อเพิ่มทักษะของบุคลากรด้านการบิน รวมถึงการเตรียมความพร้อมนักศึกษาให้กลายเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการบินที่กำลังจะเติบโตขึ้นหลังจากเปิดประเทศ

น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวต่อว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่ออุตสาหกรรมการบินเป็นอย่างมาก มีการเลิกจ้างพนักงาน บุคลากรด้านการบิน นักบิน และสายการบินหลายแห่งได้ปิดตัวลง รวมถึงยอดของนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนการบิน โดยในช่วงโควิด-19 นักศึกษาวิทยาลัย CADT หายไปประมาณ 1 ใน 3

เชื่อธุรกิจการบินเติบโต ในวิกฤตมีโอกาส

“ผมเชื่อว่า หลังจากนี้ธุรกิจการบินจะกลับมาเติบโตเหมือนเช่นในอดีต แต่อาจจะไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะยังมีหลายๆ ประเทศที่โรคยังระบาดอยู่  และอาจมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก ดังนั้น แต่ละภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน หรือผู้โดยสารเอง ก็ยังคงต้องเดินทาง และจะมีการระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแต่ละประเทศกำหนด แต่อาจจะไม่มีการปิดประเทศแล้ว เศรษฐกิจต้องขับเคลื่อนต่อไป โดยควบคู่ไปกับความอยู่รอด” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าว

คณบดีวิทยาลัย CADT กล่าวด้วยว่า การจะทำให้ประเทศเติบโตมีรายได้อย่างรวดเร็วและง่ายที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยวและต้องเดินทาง ขณะนี้ทุกคนเริ่มเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปรับตัวให้อยู่ได้ในสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลไทยก็มีมาตรการในการกำกับดูแล และธุรกิจการบินมีมาตรฐานในการบริหารจัดการที่ดีอยู่แล้ว  เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ เพื่อให้ผู้โดยสารต่างประเทศมาไทยโดยมีมาตรการป้องกันโรคอย่างดี สายการบินก็ต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางมาตรการป้องกันโรคเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร ขณะเดียวกันผู้โดยสารก็ต้องมีวินัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp