ราช กรุ๊ป ขยายการลงทุนต่อเนื่อง เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ   มุ่งเน้นบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ลดผลกระทบจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิง ไตรมาสแรก กำไร 1,579 ล้านบาท

235

มิติหุ้น – บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยบริษัทฯ สามารถลงทุนเพิ่มในโครงการใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร และส่วนขยายระยะที่ 3 ของโรงผลิตไฟฟ้า นวนคร รวมเป็นเงินลงทุน 275 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการในไตรมาสนี้ยังคงแข็งแกร่งแม้จะได้รับความกดดันจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิง โดยมีรายได้ 18,249.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.7 ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินเครื่องเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าราชบุรี รวมทั้งการรับรู้รายได้จากบริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) Fareast Renewable Development Pte. Ltd. (FRD) จากเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน อินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย สำหรับกำไรส่วนของบริษัทฯ มีจำนวน 1,579 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 508.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.4 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการตัดจำหน่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้เดิมทั้งจำนวนจากการรีไฟแนนซ์จำนวน 225.73 ล้านบาท และการบันทึกภาษีเงินได้รอตัดบัญชีของ FRD ซึ่งเป็นบริษัทย่อยแห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย จำนวน 337.70 ล้านบาท โดยทั้งสองรายการเป็นการรับรู้ตัวเลขทางบัญชี ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของกลุ่มบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคาดว่าจะสามารถระดมทุนจากการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนได้ 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเสริมขีดความสามารถของบริษัทฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานด้านการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนเดินหน้าได้ตามแผนงาน ส่วนการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงต้นทุนการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิง โดยมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด จนปัจจุบันโรงไฟฟ้าต่างๆ สามารถลดและจำกัดผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และยังรักษาอัตรากำไรไว้ได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมที่จะดำเนินการระดมทุนเพิ่มอีก 25,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 บริษัทฯ ได้กำหนดจำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้าย 725,000,000 หุ้น ราคาเสนอขายต่อหุ้นสุดท้าย 34.48 บาท และอัตราส่วนการเสนอขายหุ้นสุดท้าย 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ กำหนดระยะเวลาจองซื้อหุ้นตั้งแต่วันที่ 6-10 มิถุนายน ศกนี้ เงินทุนที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปใช้รองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่วางแผนไว้ปีละ 700   เมกะวัตต์ และธุรกิจนอกการผลิตไฟฟ้าปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งนำไปใช้ปรับโครงสร้างเงินทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินด้วย

“ในปีนี้ บริษัทฯ จะมีโรงไฟฟ้าจำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,166.58 เมกะวัตต์ เข้ามาเสริมรายได้ของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่ง โดย 2 แห่งได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 145.15 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สร้างรายได้ให้บริษัทฯ แล้ว จำนวน 86.45 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 45.08 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2565 บริษัทฯ คาดหวังว่า การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในอินโดนีเซีย หากดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ จะช่วยให้รายได้ของบริษัทฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ 4B กำลังการผลิตติดตั้งรวม355 เมกะวัตต์ ใน สปป. ลาว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการฯ และคาดว่าจะสามารถลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในเร็วๆ นี้ โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir มีอายุสัญญา 27 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 347.30 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576 ส่วนธุรกิจนอกภาคการผลิตไฟฟ้า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้” นางสาวชูศรี กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 9,203.77 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 59 (5,425.55เมกะวัตต์) เป็นกำลังการผลิตภายในประเทศไทย และร้อยละ 41 (3,778.22 เมกะวัตต์) เป็นกำลังการผลิตในต่างประเทศ สำหรับกำลังการผลิตจำแนกตามประเภทเชื้อเพลิง ประกอบด้วย เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล 7,844.03 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน 1,359.74 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 145.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็กเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง 45.08 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน เวียดนาม 15.16 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นส่วนขยาย 31.19 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน อินโดนีเซีย 930 เมกะวัตต์

ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 18,249.67 ล้านบาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 17,298.34 ล้านบาท และกำไรส่วนของบริษัท 1,579.36 ล้านบาท

ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 155,216.69 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 74,431.37 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 80,785.32 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งสะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.61 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นร้อยละ 10.00

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp