ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)แสดงจุดยืนว่าจะมุ่งมั่นสู้กับภาวะเงินเฟ้อซึ่งอาจจำเป็นต้องแลกกับความเจ็บปวด อีกทั้งไม่สามารถรับประกันเกี่ยวกับ Soft landing ได้ ทั้งนี้ การคาดการณ์นโยบายของเฟดประกอบกับสงครามในยูเครน รวมถึงมาตรการควบคุมโรคในจีนซึ่งกระทบเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่การผลิต ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินสำคัญแข็งค่าขึ้นเรื่อยมาจนกระทั่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีในเดือนนี้ ขณะที่ราคาสินทรัพย์ทางการเงินเหวี่ยงตัวผันผวนรุนแรง อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์)สหรัฐฯทะยานขึ้น ส่วนเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 ปี (กราฟด้านล่าง) ท่ามกลางมรสุมวิกฤติต้นทุนพลังงาน ส่วนการเปิดประเทศที่แม้กำลังคึกคักมากขึ้นแต่ยังคงถูกฉุดรั้งด้วยหลุมรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาบอนด์ยิลด์สหรัฐฯเริ่มพักฐานได้บ้าง ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาเชิงผสมผสานและมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะถัดไป โดยยอดค้าปลีกสดใสเกินคาดแต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดลง อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานของสหรัฐฯถือว่าแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจหลักแห่งอื่นๆ และแม้อัตราเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วแต่จะยังไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคุมเข้มนโยบายต่อไปแต่พร้อมจะแบ่งรับแบ่งสู้กับสถานการณ์หน้างานมากขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายนของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้แต่แผ่วลงจาก 8.5% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 40 ปี
เรามองว่าความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีน ข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก รวมถึงการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อการขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของเฟดอย่างเต็มเหนี่ยวแล้ว (ตลาดมองเฟดขึ้นดอกเบี้ยรวมประมาณ 200bp ในการประชุมที่เหลืออีก 5 รอบ สู่ระดับ 2.75-3.00% ก่อนสิ้นปีนี้) อาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์แกว่งตัวออกด้านข้างชั่วคราวจนกว่าจะมีชุดข้อมูลเพิ่มเติม โดยในระหว่างนี้เงินเยนจะสามารถประคองตัวหลังจากร่วงลงกว่า 12% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม Sentiment สกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาทสำหรับไตรมาสนี้ยังเปราะบางท่ามกลางสภาพคล่องตลาดโลกที่อยู่ในทิศทางตึงตัว เราตั้งข้อสังเกตว่าธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ซึ่งนำร่องขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปี 2564 และขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สี่ในเดือนนี้ แต่เงินปอนด์เสียโมเมนตัมขาขึ้น หลังผู้ว่าการบีโออีกล่าวเตือนอย่างชัดเจนว่าเงินเฟ้อจะแตะ 10% ภายในปีนี้และเศรษฐกิจอังกฤษสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เหตุการณ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งสะท้อนว่านักลงทุนได้คาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยไว้มากเกินไป ซึ่งฉากทัศน์นี้สามารถจะเกิดขึ้นกับเฟดและค่าเงินดอลลาร์ในระยะข้างหน้าเช่นกัน
USDTHB
Source: Refinitiv
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp