ราคาน้ำมันย้อนหลัง 15 วัน
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้น และยังคงได้แรงหนุนจากกระแสข่าวการคลายมาตรการจำกัดการสัญจร (Lockdown) ในจีน อาทิ เมือง Shanghai กำหนดแผนดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 ประกอบกับยุโรปยังพยายามออกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย ขณะที่บริษัทก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย Gazprom หยุดส่งก๊าซฯ ให้ฟินแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 65 เป็นต้นไป แม้มีสัญญากับ Gasum ก็ตาม หลังจากฟินแลนด์ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้จ่ายค่าก๊าซฯ เป็นเงินสกุลรูเบิล และดำเนินการสมัครเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับ NATO
อย่างไรก็ตาม Gasum แถลงในระยะสั้นจะจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งอื่น ๆ ให้ลูกค้า ผ่านท่อขนส่งก๊าซ Balticconnector ที่เชื่อมโยงระหว่างฟินแลนด์ กับลัตเวียและลิทัวเนีย ส่วนในระยะยาวฟินแลนด์ตกลงทำสัญญากับเอสโตเนีย เมื่อ 20 พ.ค. 65 เพื่อใช้ Floating Storage Regasification Unit (FSRU) เป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับการจัดหาก๊าซฯ ทดแทนอุปทานจากรัสเซีย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาส 4/65
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- หน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากละตินอเมริกา ในเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 6 เดือน ส่วนใหญ่มาจากอาร์เจนตินา และโคลอมเบีย โดยผู้นำเข้า อาทิ Valero Energy Corp., Phillips 66, PBF Energy Inc., และ Par Hawaii
- OPEC+ รายงานรัสเซียผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 65 ลดลงจากเดือนก่อน 9% อยู่ที่ 9.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าโควตา 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.9% อยู่ที่ 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 227,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะนำเข้าในเดือน พ.ค. 65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 488,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณจะเดินหน้าใช้นโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเหมาะสม ถึงแม้จะกระทบต่อเศรษฐกิจก็ตาม ในปีนี้ Fed ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง รวม 75% ทำให้ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.75% – 1%
- รัฐบาลสหรัฐฯ มีท่าทีผ่อนคลายการคว่ำบาตรบางส่วนต่อเวเนซุเอลา โดยอนุญาตให้บริษัท Chevron เจรจากับบริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนฯ PDVSA เพื่อเตรียมกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบอีกครั้ง ทั้งนี้ Chevron ร่วมทุนกับ PDVSA ผลิตน้ำมันดิบ ทั้งสิ้น 4 แหล่ง (Petroboscan, Petroindependiente, Petropiar, Petroindependencia) ผลิตน้ำมันดิบรวมประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน (ก่อนรัฐบาลสหรัฐฯ จะคว่ำบาตรเวเนฯ ในปี 2562)
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp