“59 ปี  วว.”  ชูผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบาย  BCG ด้วย วทน. ร่วมพัฒนาเกษตรกร  ผู้ประกอบการ  เศรษฐกิจประเทศ อย่างยั่งยืน 

68

มิติหุ้น – ครบรอบการสถาปนา  “59 ปี”  ในการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  หรือ วว.  หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  ในวันที่  25  พฤษภาคม  2565  เป็นก้าวย่างเติบโตที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องขององค์กร  ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ  ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกร  ผู้ประกอบการ  ให้เข้มแข็ง  เป็นก้าวย่างความสำเร็จในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม  ในการดำเนินงานยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ  เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“… วว. มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลงานและประสบการณ์ในด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  (วทน.)  วว. ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการนำ วทน. เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ  มุ่งดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร (Total Solution) พัฒนาวิสาหกิจในทุกระดับทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ (Area  Based)  ด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้ ตลอดจนร่วมกับสถาบันการศึกษาในการยกระดับความรู้ให้แก่ประชาชน เยาวชน นักศึกษา โดยส่งเสริมให้ วทน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ  อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ในการนำ วทน. เข้าไปเสริมแกร่งการดำเนินงาน  การประกอบธุรกิจ  เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมทั้งสนองนโยบาย BCG ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ…” ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าว

วว. ประสบผลสำเร็จในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG  ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคเกษตรและชุมชน  ดำเนินงานสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร  อาหาร  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเครื่องสำอาง  พลังงานและสิ่งแวดล้อม   โดยตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม  มีดังนี้

อุตสาหกรรมเกษตร    ได้แก่  โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ   ดำเนินงานภายใต้โครงการตาม พ.ร.ก. กู้เงิน  1  ล้านล้านบาท  โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 2 โครงการย่อย  ได้แก่  1) โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM 1)   คลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000  ชนิด  ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  380  ล้านบาท  ส่งผลกระทบทางสังคม 110  ล้านบาท  สร้างผู้ประกอบการได้  41  ราย  ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ 30%  และ  2) โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตก   เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม  370   ล้านบาท  ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการและลดการนำเข้าสารเคมี ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  นครปฐม  และอยุธยา รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM 2)  ที่มีกำลังการผลิต  115,000  ลิตรต่อปี

โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตร โดยใช้แนวทางมาลัยวิทยสถาน อว.    สนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า  90  ล้านบาทต่อปี  สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเลยและลำปาง  รวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน  6  กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา เลย สุพรรณบุรี นครนายก  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล           โครงสร้างพื้นฐานธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน   (Community  Seed  Bank)   มุ่งขับเคลื่อน  3  มิติ   คือ  สำรวจ-อนุรักษ์  วิจัย-นำไปใช้ประโยชน์และให้บริการชุมชน  มีศักยภาพอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืช  20-50  ปี  เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพืชสูงสุด 10,000 ตัวอย่าง

อุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย   ประสบผลสำเร็จพัฒนาและทดสอบ ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญถั่งเช่า   ชาใบข้าว   มีคุณสมบัติเด่นช่วยต้านอนุมูลอิสระ  สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย     โครงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีชีวภาพ   พัฒนานวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลพาลาทีน  ให้แก่ บริษัทน้ำตาลราชบุรี  โดยมีกำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี   โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากพืชฐานชีวภาพของไทยระดับห้องปฏิบัติการ  ร่วมกับบริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำหรับผลิตเป็นอาหารฟังก์ชั่นสู่เชิงพาณิชย์ (Plant  Based  Meat) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียม

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง   ได้แก่  โครงการพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น  โดยการทดสอบคุณภาพ  ประสิทธิภาพ  และส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนจังหวัดน่านผลิตสารสกัดสมุนไพรส่งให้บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตรีผลา มีมูลค่าการตลาด  50 ล้านบาทต่อปี และส่งเสริมสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น  ใบหมี่  มะไฟจีน  เบญจมาศ   มะขาม  ฮ่อม  มะพร้าว อะโวคาโด  ดอกบัวแดง  กล้วยหอมทอง  ฝรั่ง   เป็นต้น  พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากทรัพยากรภายในประเทศ   โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย  ที่มีประสิทธิภาพช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหาร  ไขมันพอกตับ  กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยการทำงานของระบบสมอง โดยร่วมวิจัยพัฒนากับบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด   ในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โครงการวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแพะ    สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  (วช.)  วิจัยพัฒนานวัตกรรมการสกัดขนแพะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นเฉพาะตัว  โดดเด่น  ลอกเลียนแบบยาก  นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอาง

พลังงานและสิ่งแวดล้อม   ได้แก่   โครงการพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง บริษัท BLCP นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยและลดการนำเข้าเมทานอล 100%  โครงการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในจังหวัดนครพนม   ในรูปแบบ “นครพนมโมเดล”  ครอบคลุมพื้นที่  855  ไร่   ใช้สมุนไพรพืชผัก ผลไม้จากพื้นที่พัฒนาเป็นสารสกัดสมุนไพรสำหรับกำจัดผักตบชวาและวัชพืช  โดยใช้จุลินทรีย์เป็นตัวกระตุ้นการทำงาน  ช่วยออกฤทธิ์การสกัดการสังเคราะห์แสง จากใบจนถึง ราก-เมล็ด-ไหล ของผักตบชวาได้ภายใน 45 วัน  พร้อมขยายผลให้ทุกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นศูนย์ปฏิบัติการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช   โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน  ภายใต้ “ตาลเดี่ยวโมเดล”  สร้างรายได้ให้หน่วยงานท้องถิ่นกว่า 10  ล้านบาทต่อปี เพื่อนำขยะกลับมาใช้ใหม่ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน  ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี  ชลบุรี  เชียงราย และหนองคาย  พร้อมขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

“…ในนามของ วว. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนของสังคมที่สนับสนุนการดำเนินงานของ วว. ด้วยดีเสมอมา แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แต่ วว. ยังคงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ด้วยความร่วมมือจากทั้งผู้บริหารและบุคลากรที่ร่วมแรงร่วมใจกันปรับตัว เรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการทำงานในรูปแบบ New  Normal จนเข้าสู่  Next  Normal โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ได้อย่างราบรื่น เพื่อ Transform ให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่มีความทันสมัย  สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป   สำหรับก้าวต่อไปในปีที่ 60 วว. พร้อมนำศักยภาพองค์กร ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ของบุคลากร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของทุกภาคส่วนของสังคม เป็น Partner  for  your  success  และหวังว่าทุกๆ ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ วว. ในการก้าวต่อไปข้างหน้าเป็นอย่างดี…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

การดำเนินงานข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้  สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนาตลอดระยะเวลา  “59 ปี”  ของ วว.  คือ ความภาคภูมิใจขององค์กร  คือความภาคภูมิใจของบุคลากร ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การนำไปใช้และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในหลายๆ มิติอย่างเป็นรูปธรรม  ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างโอกาสทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในประเทศอย่างยั่งยืน

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp