มิติหุ้น – ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์ทางการเงินเกิดแรงเทขาย ความผันผวนเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์เสี่ยง นักลงทุนทั่วโลกต่างพยายามทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาด คุณยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้มาแบ่งปันคำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนที่นักลงทุนสามารถปรับใช้เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่ยืดหยุ่นได้
สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ เห็นได้ชัดเจนว่าผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดกับรัสเซีย เนื่องจากพันธมิตรชาติตะวันตกส่วนใหญ่ มีมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทในรัสเซีย สถาบันการเงิน และธนาคารกลาง ผู้ได้รับผลกระทบรองลงมาคือ ยุโรป เนื่องจากยุโรปต้องพึ่งพาน้ำมันและะก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศแถบยุโรป
ส่วนสหรัฐอเมริกาได้จำกัดการค้า การพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่หากเกิดสงครามที่ยืดเยื้อจนอาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนเป็นจำนวนมาก เราคาดว่า อาจมีแรงเทขาย และแรงกดดันด้านราคาในอุตสาหกรรมพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ สำหรับสถานการณ์นี้ การคว่ำบาตรจะมีมากขึ้น และเศรษฐกิจรัสเซียจะถูกแยกออกจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เมื่อเรามองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนในอดีต เช่น สงครามอ่าว สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก และวิกฤตไครเมียในปี 2014 สิ่งหนึ่งที่สังเกตุได้ คือตลาดปรับตัวลงในช่วงที่คาดว่าจะเกิดสงคราม และตลาดมีแนวโน้มที่จะลดลงถึงจุดต่ำสุด เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น ประเด็นสำคัญของการวิเคราะห์นี้ คือความเสี่ยงจากเหตุการณ์ทางขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนในอดีตส่วนใหญ่จะผ่านไปโดยไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ที่ไม่ต้องการให้มูลค่าเงินของพวกเขาผันผวนมากนัก ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการกระจายสินทรัพย์ของตนผ่านสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi-Asset) ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงได้ คว้าโอกาสในยามที่ตลาดฟื้นตัวได้ โดยสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากผลของวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน
- เลือกลงทุนในพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Bonds) และลดระยะเวลาของพอร์ตการลงทุน แต่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เช่น Green Bonds เนื่องจากหลังจากการประชุม COP26 – การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2564 การลงทุนอย่างยั่งยืนหรือสังคมและธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ESG) ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากมายสำหรับธุรกิจที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักลงทุนในระยะยาว
- ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นอีกวิธีการในการกระจายแหล่งรายได้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับนักลงทุน ดังนั้นนักลงทุนสามารถพิจารณาสินทรัพย์เหล่านี้นอกเหนือจากตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วไปเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้
- ปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว และเมกะเทรนด์ในระยะยาวก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณาด้วยเช่นกัน ปัจจัยขับเคลื่อนเหล่านี้ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงพัฒนาต่อไปโดยไม่เกี่ยวกับผลของสงครามในครั้งนี้ และกระบวนการ Digitalisation ของโลกยังคงดำเนินต่อไป กลุ่มการดูแลสุขภาพ (Health Care) เป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีประชากรสูงอายุทั่วโลก ความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมากมายที่ยังคงระบาดไปทั่วโลก
สำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสการลงทุนและรับความเสี่ยงได้สูง การลงทุนในกลุ่มการเงินของสหรัฐฯและยุโรปยังคงน่าสนใจ ท้ายที่สุดแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่วนต่างของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับธนาคารเหล่านี้ได้ ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเป็นทรัพย์สินที่นักลงทุนนิยมถือครองในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอนและมีการปิดรับความเสี่ยง (risk-off) ในขณะที่มีคำถามถึงความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำมักจะเป็นแหล่งเก็บมูลค่าและโอกาสที่นักลงทุนควรคำนึงถึง เป็นสินทรัพย์สำหรับนักลงทุนที่มองหาความปลอดภัย
ถือเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากกว่าหนึ่งครั้งในเส้นทางการลงทุน ดังนั้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนเริ่มลงทุนโดยใช้การเฉลี่ยต้นทุน (DCA) หลักการ Risk-First ของยูโอบี สามารถช่วยให้เส้นทางการลงทุนราบรื่นขึ้น โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับพอร์ตโฟลิโอให้หลากหลาย ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละท่าน ก่อนตัดสินใจลงทุนใดๆ นักลงทุนควรแน่ใจว่ามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังลงทุนและได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแล้ว
โดยคุณยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp