EIC : ส่งออกไทย เม.ย. เริ่มแผ่ว ผลจากมาตรการปิดเมืองในจีน และอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

196

การส่งออกเดือนเมษายน 2022 ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงมาก

การส่งออกเดือนเมษายน 2022 ขยายตัว 9.9%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ชะลอตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ 19.5%YOY แม้เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 แต่หากหักทองคำ การส่งออกในเดือนนี้จะขยายตัวได้ 8.9% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 9.5% ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกอาวุธไปญี่ปุ่นในเดือนนี้มีมูลค่ามากถึง 109.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราวและไม่ได้สะท้อนภาพรวมการส่งออกของไทย

ส่งออกไปจีนหดตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าเกือบทุกตลาดล้วนมีแนวโน้มหดตัว ชะลอตัวลง หรือทรงตัว มีเพียงกลุ่ม CLMV และฮ่องกงที่เร่งตัวขึ้น โดยปัจจัยฉุดสำคัญ ได้แก่ การส่งออกไปจีนที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 17 เดือนที่ -7.2% นอกจากนี้ การส่งออกไปยุโรป (EU28) ยังขยายตัวได้ต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน (0.0%) และการส่งออกไปรัสเซียและยูเครนยังคง
หดตัวอย่างรุนแรงที่ -76.8% และ -94.9% ในขณะที่การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ยังขยายตัวได้สูงที่ 392.2% จากการส่งออกทองคำเป็นหลัก

การส่งออกหมวดยานยนต์และคอมพิวเตอร์หดตัว

ในภาพรวมการส่งออกรายสินค้าพบว่าแม้ส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ แต่มีบางหมวดสำคัญที่หดตัวหรือชะลอตัวลง
โดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัวได้ 3% โดยเฉพาะจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและข้าว แต่มีผลไม้และยางพาราเป็นปัจจัยฉุด (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 22.8% โดยเฉพาะจากไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย และอาหารเลี้ยงสัตว์ (3) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 8.3% โดยเฉพาะจากอากาศยานฯ เหล็ก เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม
และแผงวงจรไฟฟ้า แต่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางเป็นปัจจัยฉุดสำคัญ และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัว 39% โดยเฉพาะจากน้ำมันสำเร็จรูป

มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการส่งออกมาก ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนเมษายน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 21.5% โดยในเดือนนี้ขยายตัวในเกือบทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (+99.3%) ที่ขยายตัวตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงจากผลของสงครามในยูเครน สินค้าทุน (+10.9%) สินค้าอุปโภคบริโภค (+1.2%) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+11.7%) ยกเว้นสินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-25.2%) โดยในเดือนนี้ดุลการค้าขาดดุล -1,908.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 ดุลการค้าขาดดุล -2,852.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่งออกไทยหักทองคำเดือนเมษายนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

หากพิจารณามูลค่าการส่งออกหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าอย่างแท้จริง) เทียบกับเดือนมีนาคมแบบปรับผลของฤดูกาล การส่งออกไทยจะขยายตัวเพียง 2.8% (MOM, SA) นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน
และเริ่มสะท้อนถึงผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับแรงกดดันหลายปัจจัย ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องกดดันกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภคทั่วโลก กอปรกับสงคราม
ในยูเครนและปัญหาชะงักชะงันของอุปทานและภาคขนส่งที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การชะลอตัวของการส่งออกไทยสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญอื่นที่ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน รวมถึงกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export orders) ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 หรือหดตัว สองเดือนติดต่อกัน

ส่งออกไปจีนและยุโรปเริ่มสะดุด

มาตรการปิดเมืองที่ยืดเยื้อและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งผลต่อส่งออกไทยทำให้การส่งออกไปจีนในเดือนเมษายนหดตัวถึง -7.2% และหากหักทองคำแล้ว การส่งออกเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะหดตัวถึง -6.2% (MOM, SA) สอดคล้องกับตัวเลขดัชนี Manufacturing PMI ของจีนที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 26 เดือนที่ระดับ 46 โดยเป็นการหดตัวในกือบทุกสินค้าส่งออกไปตลาดจีน นำโดยผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ในระยะข้างหน้าหากสถานการณ์การระบาดและการใช้มาตรการปิดเมืองยังคงยืดเยื้อ กอปรกับภาวะทางเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงอาจส่งผลกระทบกับสินค้าส่งออกไทยหลายชนิดที่พึ่งพาจีนเป็นหลัก เช่น ผลไม้ และยางพารา

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขี้นจากภาวะสงคราม
ในยูเครน โดยการส่งออกหักทองคำไปยุโรปหดตัว -2.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM, SA) แม้ยังทรงตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับตัวเลขดัชนี Manufacturing PMI ของยุโรปที่ชะลอลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน สำหรับการส่งออกหักทองคำไปรัสเซียและยูเครนยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับสูง แต่ไม่ได้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยมากเนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย

EIC มองส่งออกระยะถัดไปยังขยายตัวในอัตราชะลอลง

EIC ยังมองมูลค่าส่งออกไทยในปี 2022 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี มูลค่าส่งออกไทยขยายตัวจากแรงหนุนด้านราคา 3.9% และจากด้านปริมาณ 11% แต่ในระยะถัดไปคาดปัจจัยด้านปริมาณมีแนวโน้มชะลอตัวจากอุปสงค์ตลาดโลกที่ลดลง เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะสงครามและเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในการผลิต
และส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ แต่จะได้รับแรงหนุนหลักจากราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าพลังงานและอาหาร จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อนานกว่าคาด อย่างไรก็ตาม
การนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่าจากปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องน้ำมัน ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยปรับตัวลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลต่อเนื่องในปีนี้

ทั้งนี้ EIC กำลังประเมินแนวโน้มการส่งออก และจะเผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกและประมาณการภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp