มิติหุ้น-ศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่าในปีบัญชี 64/65 (1 เม.ย.64 – 31 มี.ค.65) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 11,740 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 9,569 ล้านบาท จำนวน 2,171 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.7% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 31.7% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีกำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท
ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,221 ล้านบาท จำนวน 381 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31.2% แม้ว่าปีบัญชีที่ผ่านมาบริษัทได้เผชิญกับความท้าทายจากความยืดเยื้อของการแพร่ระบาด COVID-19 อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์สูงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงดำเนินงานตามแผนธุรกิจอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อองค์กร
การดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขาย 3,119 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 18.8% จากปีก่อน มาจากยอดขายตลาดในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลังการเร่งฉีดวัคซีน และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล สำหรับยอดขายในประเทศยังเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas และ TJM มีรายได้จากการขาย 5,835 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 30.5% จากปีก่อน ยอดขายปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเติบโตตามอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ยานยนต์ส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะซึ่งใช้งานอเนกประสงค์ อย่างไรก็ตามยังคงได้รับผลกระทบจากความล่าช้าจากกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียยอดขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้จะเริ่มเห็นการชะลอตัวจากไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 64/65 เนื่องจากผลกระทบของมาตรการปิดเมืองในบางพื้นที่ เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความล่าช้าจากการส่งมอบรถยนต์ใหม่เนื่องจากชิปขาดแคลน (Semiconductor Shortage)
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขาย 2,785 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 12.7% จากปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคในยุควิถีใหม่ (New Normal) ที่นิยมสั่งอาหารแบบ จัดส่งถึงที่ (Delivery) หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น
บริษัทมีต้นทุนขายสินค้าเพิ่มขึ้น 21.7% จากปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมีบางประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทได้เตรียมแผนรับมือโดยสั่งซื้อวัตถุดิบกลุ่มปิโตรเคมีล่วงหน้าจำนวนมากกว่าปกติ ก่อนการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบ อีกทั้งได้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในหลายประเทศเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยจากราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 21.4% มาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดจาก Covid-19 เช่น การจัดทำมาตรการ Bubble and Seal การจัดหาวัคซีนทางเลือกป้องกัน COVID-19 (วัคซีนซิโนฟาร์ม) ให้แก่พนักงาน และการช่วยเหลือสังคมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ค่าขนส่งที่สูงขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย
นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 226 ล้านบาท จากการ ฟื้นตัวตามกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 65 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.19 บาท (สิบเก้าสตางค์) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 532 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 65 ในวันที่ 21 ก.ค. 65 และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 2 ส.ค. 65 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 19 ส.ค. 65
“ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.64 บริษัท ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.14 บาท (สิบสี่สตางค์) หากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.19 บาทต่อหุ้น (สิบเก้าสตางค์) จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.33 บาทต่อหุ้น (สามสิบสามสตางค์) คิดเป็นร้อยละ 57.9 ของผลกำไรสุทธิ (Payout ratio)”
@mitihoonwealth