พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง! พาชม 2 ไอเดียแฟลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสังคม จัดการแผงลอย-จัดการการเงิน จากเยาวชนผู้ชนะในโครงการ “ยูธ โคแล็บ”

159

มิติหุ้น  –  ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีต่าง ๆ ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าไหร่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและอุปสรรคของผู้คนในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ  ก็ยังคงเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการจะจัดการกับปัญหาดังกล่าวให้ลดน้อยลงได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เพื่อให้ทุกคนในประเทศสามารถดำเนินชีวิตได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งผลักดันให้ประเทศมีมั่นคงและแข็งแกร่ง ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะพาทุกคนไปชมไอเดียของเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ ยูธ โคแล็บ 2021 (Youth Co:Lab 2021) จากความร่วมมือของมูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียธุรกิจ และนวัตกรรมเพื่อสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยมุ่งเน้นพัฒนา ให้ความรู้ ความเข้าใจ และให้คำปรึกษาแก่เยาวชนในด้านต่าง ๆ สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในสังคมโลก โดย 2 ไอเดียดี ๆ ของเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นอันดีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น

  • ลดปัญหา สร้างโอกาส ยกระดับอาชีพหาบเร่แผงลอยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมายและเชื่อถือได้

เริ่มต้นที่ Carter แพลตฟอร์มเพื่อหาบเร่ แผงลอย และผู้ค้ารายย่อย ของทีมเดอะ โฮมิเนี่ยนส์ (The Hominians) หนึ่งในทีมผู้ชนะที่มีแรงบันดาลใจจากการมองเห็นปัญหาหนี้สินของหาบเร่แผงลอยและผู้ค้าที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดทั่วประเทศไทย เนื่องด้วยกลุ่มแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับสวัสดิการ และความคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น การเข้าถึงต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้ในการดำเนินชีวิต เนื่องจากไม่สามารถขอสินเชื่อถูกกฎหมายได้ รวมถึงการเข้าไม่ถึงความรู้ด้านการเงิน ขาดหลักฐานทางการเงินที่ถูกต้อง และไม่สามารถทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้ เป็นต้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนแรงงานอยู่ประมาณ 37.9 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบหมายถึงแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอยู่ที่ประมาณ 17.5 ล้านคน และกว่า 20.4 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานที่ส่วนใหญ่ยังคือกลุ่มนอกระบบที่ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองต่าง ๆ ทั้งในด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิต

ดังนั้นแพลตฟอร์ม Carter เพื่อผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและผู้ค้าในตลาด จะเข้ามาทำหน้าที่เชื่อมโยงและสนับสนุนให้เกิด Ecosystem โดยมีจุดประสงค์หลักคือ แพลตฟอร์มที่ทำให้การทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่ในรูปแบบบออนไลน์ที่สื่อสารแบบสองทางประกอบไปด้วยผู้ค้ากับผู้ซื้อ โดยแอปพลิเคชันฝั่งผู้ค้าจะมีระบบ POS ทำหน้าที่ช่วยจัดการร้านค้า ในการสร้างระบบทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอัตโนมัติ ซึ่งมีการเชื่อมต่อกับแอปฯ ของธนาคาร รวมถึงการบันทึกรายรับรายจ่ายที่มาจากเงินสด โดยท้ายที่สุด แอปฯ จะรายงานผล Transaction ทั้งหมดออกมาในรูปแบบแผนภูมิ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถดูและประมวลผลได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถดูย้อนหลังได้แบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ซึ่งจะเป็นการยืนยันด้านการเงินที่ผู้ค้าสามารถนำไปใช้ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารได้ ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อ (ผู้ซื้อทั่วไป หรือ นักท่องเที่ยว) เบื้องต้นแอปพลิเคชันจะมีระบบ Smart Map ที่จะแสดงร้านค้าทั้งหมดที่อยู่ในบริเวณโดยรอบเพื่อให้ผู้ซื้อหรือนักท่องเที่ยวสามารถค้นหาร้านค้าที่สนใจในบริเวณใกล้เคียงได้อย่างสะดวก ตลอดจนมีระบบ Countdown of Events ที่แสดงให้เห็นพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรม ภายในตลาด งานวัด รวมทั้งข้อมูลสำคัญของร้านต่าง ๆ เช่น ร้านไหนได้รับประกาศนียบัตรความสะอาดหรือ ความอร่อย อย่าง ‘Clean Food Good Taste – มาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร’ หรือ ‘Michellin Guide’ ตลอดจนในอนาคตจะพัฒนาระบบจ่ายเงินออนไลน์ให้กับนักท่องเที่ยว โดยมีฟีเจอร์ เช่น Buy Now, Pay Later ที่จะชักชวนให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้จ่ายแบบไร้กังวลอีกด้วย

นางสาวอัยรดา ส่งพัฒนายุทธ ซีอีโอ ทีมเดอะ โฮมิเนี่ยนส์ (The Hominians) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Carter เผยว่า ปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงความเหลื่อมล้ำระหว่างนายทุนรายใหญ่กับผู้ค้ารายย่อยอย่างหาบเร่แผงลอยในฐานะเด็กรุ่นใหม่ มองเห็นว่าการแก้ปัญหาในโลกยุคใหม่คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนช่วยเพื่อลดช่องว่างที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานที่ทำอาชีพเหล่านี้ยังดำเนินธุรกิจต่อไปด้วยการเชื่อมโยงทั้งแหล่งเงินทุนไปจนถึงกลุ่มผู้บริโภค ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อกันไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ การจัดการชุมชนเมือง หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงมองว่าเป็นความรับผิดชอบที่ทุกคนในสังคมควรจะร่วมมือกันหาทางออกและไม่ปล่อยให้สังคมเหลื่อมล้ำไปมากกว่านี้

  • ดึงเทคโนโลยีการเงินช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ตอบโจทย์ชีวิตดิจิทัลของสังคมมุสลิมไทยยุคใหม่

ต่อกันด้วยโครงการ แพลตฟอร์มระบบการจัดการซะกาตแห่งประเทศไทย (www.zakatthailand.com) โดยซะกาตแห่งประเทศไทยเป็นแพลตฟอร์มระบบซะกาตออนไลน์ครบวงจร ที่มีวัตถุประสงค์จัดทำขึ้นเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และลดปัญหาความยากจนในสังคมมุสลิมไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยซะกาตถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการสังคมในศาสนาอิสลามที่มุ่งเน้นให้สวัสดิการในการดูแลปกป้องบุคคลในสังคมที่เข้าตามเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ เช่น คนขัดสน คนยากไร้ ผู้ที่เป็นหนี้สิน ฯลฯ เป็นต้น จากในอดีตที่ต้องประสบกับปัญหาการขอรับซะกาตของมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีรูปแบบการแจกจ่ายซะกาตส่วนใหญ่ที่ดำเนินการในลักษณะปัจเจกชน คือการแจกจ่ายแก่คนที่มีสิทธิรับในวงแคบและเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้ระบบการแจกจ่ายซะกาตยังไม่สามารถบรรลุผลสมจุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง ความช่วยเหลือทางสังคมที่จะตกแก่คนยากจน ขัดสน ผู้ด้อยโอกาส จึงยังไม่เกิดประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็น

ดังนั้น แพลตฟอร์มระบบการจัดการซะกาตแห่งประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จะทำหน้าเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างผู้จ่ายซะกาต องค์กรบริหารซะกาต และผู้ขอรับซะกาต โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีความสะดวกในการใช้งาน ทั้งฝั่งผู้จ่ายสามารถคำนวนซะกาตได้ทุกประเภทอย่างถูกต้อง แม่นยำและจ่ายได้หลายช่องทาง องค์กรบริหารซะกาตอย่างโปร่งใสเพราะมีระบบบันทึกรายงานการเงินของกองทุนซะกาต และภาพกิจกรรมแจกจ่ายซะกาตแสดงบนหน้าเว็บไซต์ ส่วนผู้ขอรับซะกาตสามารถขอรับซะกาตผ่านแพลตฟอร์มได้โดยตรงและมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลโดยเจ้าหน้าที่หลังจากรับซะกาตเพื่อพัฒนาผู้รับซะกาตสู่การเป็นผู้จ่ายซะกาตหรือหลุดพ้นจากการเป็นผู้รับซะกาต สามารถพึ่งพาตนเองได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

นางสาวอาดีละห์ สาแม ตัวแทนผู้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบการจัดการซะกาตแห่งประเทศไทย เผยว่า หลังจากการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มระบบการจัดการซะกาตแห่งประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน พบว่าได้รับความสนใจจากผู้ขอรับซะกาตเป็นอย่างมาก โดยแพลตฟอร์มสามารถช่วยให้ผู้ที่มาขอรับซะกาตได้รับความสะดวกสบายในการขอรับซะกาต เนื่องจากสามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ทำให้ไม่ต้องเดินทาง ในขณะที่ฝั่งผู้บริหารซะกาตก็สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นเพราะมีข้อมูลบันทึกรายงาน โดยอนาคตต่อจากนี้จะพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพสามารถเชื่อมโยงระบบซะกาตได้หลากหลายขึ้น รวมถึงการพยายามเชิญชวนให้ผู้บริจาคซะกาตรวมถึงผู้มีสิทธิ์รับซะกาตเข้ามาใช้บริการให้มากขึ้นตามลำดับ อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp