บล.หยวนต้า ออกโรงแนะ “ซื้อ” PIMO-ไพโม่  ให้ราคาเป้าหมาย 4.84 บ.

112

มิติหุ้น – บล.หยวนต้า ออกโรงแนะซื้อหุ้น PIMO-ไพโม่ ให้ราคาเป้าหมาย 4.84 บาทต่อหุ้น หลังมี Upside gain 40% ปัจจุบันซื้อขายที่ PER ปี 65 เพียง 19.8 เท่า ขณะที่ตลาด AC ลูกค้ารายใหญ่เติบโตต่อเนื่องแถมเตรียมลุยรถยนต์ EV ตลาดใหม่น่าจับตามอง พร้อมชูจุดเด่นรายได้และกำไรมีโอกาสทำจุดสูงสุดใหม่ All Time High ด้านหัวเรือใหญ่ “วสันต์ อิทธิโรจนกุล” คาดยอดขายไตรมาส 2/65 เติบโตต่อเนื่อง ทั้งปีคงเป้า 20% จากปี 64 ทำได้ 1,030.58 ล้านบาท

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นของ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO-ไพโม่ โดยนายธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์     บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า PIMO เป็นรายเดียวในประเทศไทยและ 1 ใน 3 รายในโลก ที่มีสิทธิบัตรการผลิตและจำหน่ายมอเตอร์ BLDC สำหรับสระน้ำ โดยสิทธิบัตรมีอายุคงเหลืออีก 16 ปี ซึ่งยอดคำสั่งซื้อที่เต็มกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2565 มาจากลูกค้าในต่างประเทศที่เร่งผลิตมอเตอร์สำหรับสระน้ำ เนื่องจากการเปลี่ยนกฎหมายในสหรัฐฯ

ขณะที่ PIMO ยังมีกำลังการผลิตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผู้ผลิตในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าอัตราการเปลี่ยนปั๊มสระน้ำในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ราว 0.9-1.3 ล้านตัวต่อปี อัตราการผลิตของ PIMO ปัจจุบันอยู่ที่ราว 37,000 ลูกต่อปี ทำให้ยังมีโอกาสในการเติบโตสูงจากมูลค่าตลาดในสหรัฐฯ ที่สูงถึงราว 7,500 ล้านบาท (อิงสมมุติฐานอัตราการเปลี่ยนปั๊มสระน้ำที่ 1 ล้านตัวต่อปีและราคาขายมอเตอร์ที่ 7,500 บาทต่อลูก) และยังมีโอกาสที่ออสเตรเลียและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของ PIMO จะเปลี่ยนกฎหมายแบบเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งจะผลักดันให้ตลาด BLDC เติบโตสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ PIMO ยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตมอเตอร์ BLDC เป็น 47,500 ลูก และ 63,300 ลูกต่อปีในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ โดยฝ่ายวิเคราะห์รวมรายได้ส่วนนี้เข้าไปในประมาณการปี 2565 และ 2566 แล้ว

ส่วนปัจจุบัน PIMO ขายมอเตอร์ AC ให้กับลูกค้ารายใหญ่หลายราย หนึ่งในนั้นคือมิตซูบิชิ ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศชั้นนำและผู้ผลิตปั๊มน้ำอันดับหนึ่งในไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลัง COVID-19 ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปีที่ผ่านมาและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรมั่นใจในการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น หนุนความต้องการใช้ปั๊มน้ำและเครื่องจักรการเกษตรให้สูงขึ้นรวมถึงการติดตั้งหรือเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศและปั๊มน้ำในบ้านมากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้มอเตอร์สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นรายได้อีกช่องทางของ PIMO ที่น่าสนใจเช่นกัน หลังปัจจุบันบริษัทมีคู่ค้าที่จับมืออยู่ 3 ราย โดยฝ่ายวิเคราะห์ประเมินสมมุติฐานเบื้องต้น คู่ค้า 3 รายดังกล่าวจะผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้อยู่ที่ราว 60,000 คันต่อปี และราคาขายของมอเตอร์ชนิดนี้อยู่ที่ 5,000-10,000 บาทต่อลูก จะทำให้บริษัทมีรายได้จากสินค้าชนิดนี้เพิ่มขึ้นอีกราว 300-600 ล้านบาทต่อปีหรือราว 15 -30% ของยอดขายที่ฝ่ายวิเคราะห์ประมาณการในปี 2566 โดยบริษัทคาดว่าจะเริ่มมีรายได้เข้ามาช่วงไตรมาส 4/2565 ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ยังไม่ได้รวมรายได้ส่วนนี้เข้าไปในประมาณการ

นายธีร์ธนัตถ์ กล่าวต่อไปว่าสินค้าที่ PIMO ผลิตและจัดจำหน่ายแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.มอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ 2.มอเตอร์กำลังสำหรับภาคอุตสาหกรรม และ3.เครื่องสูบน้ำปั๊มหอยโข่งและมอเตอร์สำหรับสระและสปา โดยมีสัดส่วนการขายอยู่ที่ 33%, 7% และ 59% ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายแบบ OEM ทั้งนี้ในไตรมาส 1/2565 มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 60% โดยฝ่ายวิเคราะห์ประเมินรายได้จากการขาย ณ สิ้นปี 2565 จะทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะได้รับปัจจัยบวกจากยอดคำสั่งซื้อมอเตอร์ AC ที่เต็มกำลังการผลิตไปจนถึงไตรมาส 3/2565 และมอเตอร์ BLDC ที่เต็มกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2565 แม้ไตรมาส 1/2565 จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากดดัน GPM เหลือเพียง 16.2% แต่บริษัทมีการปรับราคาขึ้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 20% รวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าช่วยลดผลกระทบ ทำให้ GPM ทั้งปี 2565 คาดการณ์ที่ 18% ลดลงจาก 18.9% ในปี 2564 แต่ยังทำให้กำไรปกติในปี 2565 ทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกที่ 139 ล้านบาท เติบโต 36% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เทียบเท่า EPS ที่ 0.17 บาทต่อหุ้น ฝ่ายวิเคราะห์ใช้ PER ปี 2565 ที่ 27.6เท่า (+0.5SD) ได้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2565 ที่ 4.84 บาท มี Upside gain 40% ปัจจุบันซื้อขายที่ PER ปี 2565 เพียง 19.8 เท่า จึงเริ่มต้นคำแนะนำ “ซื้อ”

ด้านนายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO-ไพโม่  เปิดเผยว่าในปี 2565 ยังคงเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1,200 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2564 ที่ทำได้ 1,030.58 ล้านบาท โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้หลักๆ มาจากจำนวนลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมียอดขายจากต่างประเทศคิดเป็น 60% และในประเทศ 40% และแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะออกมาในทิศทางที่ดี ตามคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ที่เข้ามาล่วงหน้าแล้ว 8 เดือนและยอดขายในเดือนเมษายน 2565 เติบโตอย่างโดดเด่น

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp