กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 34.50-34.95 รอผลประชุมเฟด

100

มิติหุ้น – กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิด อ่อนค่าที่ 34.76บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 34.32-34.77 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4-3 ให้ตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เงินดอลลาร์ทะยานขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยูโรดิ่งลงหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศจะยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 1 กรกฎาคม และจะขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในการประชุมเดือนกรกฎาคม รวมถึงส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 25bp ในเดือนกันยายนเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ยิ่งไปกว่านั้น อีซีบีขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการรับมือกับภาวะ Fragmentation หรือการที่ต้นทุนการกู้ยืมของแต่ละประเทศสมาชิกในยูโรโซนได้รับผลกระทบไม่เท่าเทียมกัน ทางด้านเงินเยนแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)กล่าวว่าการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นตราบใดที่เงินเยนยังเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6,690 ล้านบาท และมียอดขายพันธบัตร 10,712 ล้านบาท โดยมีพันธบัตรที่ถือครองโดยต่างชาติครบอายุ 5,689 ล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่า ตลาดจะติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 15 มิถุนายน โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 50bp จากปัจจุบันที่อยู่ในช่วง 0.75-1.00% หลังข้อมูลบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคมที่ 8.6% สูงเกินคาดและสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ตลาดจะให้ความสนใจกับความเห็นของประธานเฟดและประมาณการอัตราดอกเบี้ยโดยเจ้าหน้าที่เฟด (Dot Plot) นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 25bp ในวันที่ 16 มิถุนายน ส่วนบีโอเจมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยตามเดิม อนึ่ง กรุงศรีคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อเนื่องก่อนเฟดประกาศผลการประชุม ส่วนการแทรกแซงค่าเงินเยนโดยทางการญี่ปุ่นมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ จากท่าทีล่าสุดของกนง.ที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เราคาดว่ามีโอกาสสูงที่กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคม โดยกนง. แสดงความกังวลต่อแรงกดดันด้านราคาในวงกว้างมากขึ้น ควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการใช้นโยบายที่ผ่อนคลายจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า กรุงศรีประเมินว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมที่พุ่งขึ้น 7.1% แรงกดดันจากประเทศต่างๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการไหลของเงินทุนนั้นล้วนมีส่วนต่อการเปลี่ยนจุดยืนของกนง.

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp