CIS ปรับพอร์ตสู้เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่ง – แนะกลยุทธ์ลงทุนเพิ่มสินค้าโภคภัณฑ์

122

มิติหุ้น – นักลงทุนรุ่นใหม่ มองแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี แตะระดับ 8.6% เช่นเดียวกันกับไทยที่แตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีที่ 7.1% แนะกลยุทธ์การลงทุนระยะกลางเพิ่มพอร์ตสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงานและสินค้าเกษตรเป็นทางเลือกการลงทุนที่ชนะเงินเฟ้อสูง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรจำนวนไม่น้อย ส่วนสินทรัพย์อื่น ๆ ให้จับตาหุ้นจีนทั้งกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มที่อิงเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มเห็นการฟื้นตัว รวมถึงการประชุม FED วันที่ 15 มิถุนายนนี้ หากยังคงขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาดการณ์เดิมอาจจะส่งผลดีต่อตลาด

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันการลงทุนในทุกสินทรัพย์ ไม่เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยก็ออกมารายงานเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีที่ 7.1% ขณะที่ทวีปยุโรปก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อระดับสูงด้วยเช่นกัน

“เมื่อคืนวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมออกมาที่ 8.6% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ทั้ง ๆ ที่ราคาพลังงานไม่ได้อยู่ในจุดพีคเหมือนกับเดือนมีนาคม บ่งบอกว่าเงินเฟ้อน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงทั่วโลกต่อไปอีกระยะหนึ่ง”

ในภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะยังคงอยู่ในระยะยาว สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนเทียบเคียงกับเงินเฟ้อได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตร

โดยก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่ 150% ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นมา 55% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม ฯลฯ ต่างปรับตัวขึ้นระดับ 30% ขึ้นไป ทั้งนี้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่อาจจะยืดเยื้อตลอดจนความขัดแย้งระหว่างชาติผู้ผลิตน้ำมันที่อาจส่งปัญหาต่อซัพพลายที่ขาด

ส่วนสินค้าทางการเกษตร ซึ่งส่งผลต่อราคาอาหารตอนนี้เกิดปัญหาในด้านซัพพลายจากการที่หลายชาติผู้เป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารชะลอการ ส่งออกยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Hard Commodity คือสินค้าประเภทวัตถุดิบต่าง ๆ ที่สกัดมาจากเหมืองแร่ เช่น ทองคำ เงิน แพลเลเดียม ฯลฯ รวมถึงโลหะมีค่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลบวกจากอัตราเงินเฟ้อ เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวมากกว่า

“นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่มีบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าการเกษตรและอาหารจำนวนมาก แต่ต้องเป็นผู้ผลิตต้นน้ำเพราะถ้าเป็นผู้จำหน่ายปลายน้ำอาจจะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือ จะเลือกลงทุนในกองทุนรวม หรือ ETF ที่เน้นลงทุนในกลุ่ม Commodity ก็ได้”

อย่างไรก็ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากอาจจะมีอัพไซด์ที่จำกัด จึงแนะนำให้เป็นการเทรดในระยะกลางหวังผลตอบแทนที่ระดับ 10-15% และต้องจับตาว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในจุดสูงสุดแล้วหรือไม่ โดยติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่จะมีการประกาศทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสินทรัพย์อื่นที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่เริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวชัดเจนจากการที่รัฐบาลจีนเปิดทางให้ DIDI ซึ่งเป็น Super App ที่มีผู้ใช้งานอันดับต้น ๆ ของจีน กลับมาเปิดให้บริการในประเทศได้อีกครั้ง เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจีนอาจจะเริ่มคลายความกดดันที่มีต่อบริษัทเทคโนโลยีแล้ว

ประกอบกับรัฐบาลจีนเริ่มเปิดเมืองใหญ่ทั้งปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ในรอบสองเดือนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น โดยดัชนี Hang Seng เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว เช่นเดียวกับดัชนี CSI300 ที่อิงกับกลุ่มเศรษฐกิจภายในจีนแผ่นดินใหญ่

ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มที่จะทรงตัวไม่ลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่ แต่ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจน ส่วนตลาดหุ้นไทยยังต้องคัดเลือกหุ้นบางตัวที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ตลอดจนหุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดรับกัญชาให้เป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนทองคำและบิทคอยน์น่าจะยังได้รับแรงกดดันจากการใช้นโยบายการเงินที่เคร่งครัดของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ต่อไป

“อย่างไรก็ตามเริ่มจะเห็นสัญญาณจากกรรมการ FED หลังมีแหล่งข่าวออกมาพูดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 0.5% อีกสักครั้งสองครั้ง และไม่น่าจะได้เห็นการขึ้นดอกเบี้ยทีเดียว 0.75% เพราะเป็นการทำร้ายตลาดมากเกินไป ซึ่งนักลงทุนจะต้องจับตาผลการประชุม FED ในวันพุธที่ 15 มิถุนายนนี้ หากยังคงขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามการคาดการณ์เดิมน่าจะส่งผลบวกต่อตลาด เพราะบ่งบอกว่า FED จะไม่ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดไปกว่านี้ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูง”

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp