มิติหุ้น – บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทย Sideway Down จากแรงกดดันตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแรงเป็นตัวเร่งให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง พร้อมจับตา กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังปีนี้ จากล่าสุดมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,550-1,600 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์จากรายได้ดอกเบี้ยมีโอกาสเพิ่มขึ้น ชู KBANK–SCB–BBL–KTB–TISCO
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับตัวลงลักษณะ Sideway Down โดยมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าที่ตลาดคาดจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6%YoY สูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% และสูงกว่าระดับ 8.3% ในเดือนเม.ย. จึงคาดว่าจะเป็นตัวเร่งให้ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อีกทั้งปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เตือนว่าทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตอาหารขั้นรุนแรง ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อมีโอกาสพุ่งขึ้นต่อจากปัจจุบัน และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย จึงเกิดแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะเดียวกันมติกนง.ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% สะท้อนว่ามีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้า
ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมเสนอครม.จัดเก็บ “ภาษีขายหุ้น” หรือ Financial Transaction Tax เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ต่อไปเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทย จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีจะอยู่ในกรอบ 1,550-1,600 จุด แนะนำนักลงทุนระยะสั้นถือเงินสดรอดูผลการประชุม FED
ส่วนปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ การประชุมศบค. กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์ ธปท. เผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)รายงานภาวะเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอียูรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. สหรัฐ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพ.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. การประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (ทราบผลเช้าวันที่ 16 มิ.ย.) ซึ่งตลาดคาดจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า จีนรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. อียู รายงานดุลการค้าเดือนเม.ย. สหรัฐ รายงานยอดค้าปลีกเดือนพ.ค. ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย. สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเม.ย. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการคาดการณ์ว่ากนง.มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังปี 2565 ทำให้หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์จากรายได้ดอกเบี้ยมีโอกาสเพิ่มขึ้น ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, KTB และ TISCO
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำในสัปดาห์นี้ยังต้องจับตาประกาศตัวเลขเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและการประชุม FOMC ที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% และปรับลดขนาดงบดุลเริ่มเดือนมิถุนายนนี้ที่ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยตลาดยังรอมุมมองของเฟดเพิ่มเติมต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะถัดไป หากเงินเฟ้อเร่งตัวระดับสูงอาจเป็นเหตุให้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็นเพิ่มขึ้น 0.75% เพื่อสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ
ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำถูกกดดันจากการประชุม FOMC เนื่องจากเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของสหรัฐยังทรงตัวระดับสูงกว่า 8.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 40 ปีทำให้เฟดพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐและดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นได้และอาจกดดันราคาทองคำ มุมมองกรอบการซื้อขายบริเวณ 1,840-1,890 $/oz หากย่อตัวลงไม่หลุดแนวรับดังกล่าว ทยอยเข้าซื้อสะสม
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp