Krungsri Talks by โกลบอลมาร์เก็ตส์ : เฟดพยายามกอบกู้ความเชื่อมั่น

312

เฟดพยายามกอบกู้ความเชื่อมั่น

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง
ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สูงแล้วสูงอีก สำหรับค่าเงินดอลลาร์ ราคาน้ำมัน และบอนด์ยิลด์ทั่วโลก ถือเป็นคลื่นพลิกผันของ Sentiment อีกระลอกเมื่อตลาดรับข่าวดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯพุ่งขึ้น 8.6% y-o-y ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2524 หรือกว่า 40 ปี (กราฟด้านล่าง) โดยข้อมูลนี้ทำลายความหวังของนักลงทุนที่เคยประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อีกทั้ง CPI จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในเดือนนี้ ขณะที่ CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงที่ 6.0% ในเดือนพฤษภาคม โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้รับแรงส่งจากค่าเช่าเป็นหลัก ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการขอขึ้นค่าแรง ประกอบกับนายจ้างในสหรัฐฯยังขาดแคลนแรงงาน จึงจำยอมต้องเพิ่มค่าจ้าง และนำไปสู่การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าแบบวนลูป นั่นคือฝันร้ายของผู้ดำเนินนโยบายอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ขณะที่เงินเฟ้อซึ่งสูงลิบลิ่วและความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ส่งผลลบทางการเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ

เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 75bp สู่ 1.50-1.75% ด้วยมติ 10-1 ในการประชุมสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 และส่งสัญญาณหนักแน่นว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ Dot Plot บ่งชี้ว่าดอกเบี้ย Fed Funds จะแตะระดับ 3.4% ก่อนสิ้นปีนี้ ทางด้านประธานเฟดระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 75bp ถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำบ่อย อย่างไรก็ดี เราคาดว่าในเวลานี้เฟดจะทำทุกวิถีทางที่จะลดการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนลง และดูเหมือนว่าการปรับมุมมองอย่างยืดหยุ่นตามตัวเลขเงินเฟ้อโดยไม่ยึดติดกับความเห็นที่เคยให้ไว้เดิมจะกู้ความน่าเชื่อถือของเฟดกลับมาได้บ้าง ทั้งนี้ หลังจากมีความชัดเจนเกี่ยวกับผลประชุมเฟด ค่าเงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร และพักฐานชั่วคราว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาพลังงานและมาตรการคว่ำบาตรท่ามกลางภาวะสงครามเป็นสาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อโลกในรอบนี้ ขณะที่หากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อต่อไป สิ่งเดียวที่เฟดจะสามารถทำเพื่อกดเงินเฟ้อลงได้คือการจงใจฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยตลาดที่ผันผวนอย่างหนักสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาแรงและจบด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งอาจสะเทือนภาคส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ส่วนอีกทางหนึ่งคือน้ำมันแพงถึงจุดที่ลดความต้องการใช้ (Demand Destruction) คล้ายกันกับช่วงกลางปี 2551 ทั้งนี้ เราคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ก่อนจะหักหัวลงหลังจากนั้น อนึ่ง สำหรับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างสหรัฐฯ สารตั้งต้นของเงินเฟ้อเกิดจากการถอนนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ช้าเกินไปของเฟดอีกด้วย ในทางกลับกัน การขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของไทยจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากกว่าเฟดด้วยบริบทของตลาดแรงงานที่ต่างกัน โดยเราเชื่อว่ากนง.เผชิญแรงกดดันจากภายนอกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นชัดเจนจะเอื้อต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย และสนับสนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp