“กองทุนสื่อ” ปลื้ม “TMF Media Forum 2022” ได้รับการตอบรับล้นหลาม นำประสบการณ์ระดับโลกสู่การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อไทย

38

มิติหุ้น – ผ่านไปแล้วกับงาน TMF MEDIA FORUM 2022 สัมมนาออนไลน์ (Webinar) เกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมสื่อ ในระดับสากล ครั้งแรกในประเทศไทย โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 16 และ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด World Collaboration โดยมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ เชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจ อุตสาหกรรมสื่อไทย สู่ “ฮอลลีวูด” และแพลตฟอร์มระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในการเชื่อมโยง สื่อสร้างสรรค์ไทยในเวทีโลก โดยเชิญผู้มีประสบการณ์ จากวงการสื่อในทุกองค์ประกอบ จากฝั่งฮอลลีวูดและแพลตฟอร์มระดับโลก มาร่วมบรรยายให้ความรู้ถึงเทคนิค แนวคิด โอกาสทางธุรกิจ และวิธีการในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อในทุกมิติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นโอกาสในการพาอุตสาหกรรมสื่อไทยก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลก ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยงานนี้มีบุคคลากรในอุตสาหกรรมสื่อไทยสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โดยในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้รับเกียรติจาก นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ กล่าวต้อนรับ วิทยากร ผู้เข้าร่วมสัมมนาและสื่อมวลชน

ซึ่งในงานสัมมนาทั้ง 2 วันนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสื่อหลากหลายด้านจากวิทยากร มากประสบการณ์ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมสื่อทั้งจากฝั่งฮอลลีวูด และ แพลตฟอร์มระดับโลก ที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ กรณีศึกษาและความรู้เกี่ยวกับระบบการผลิตสื่อทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ การวางแผนก่อนการผลิต (Pre Production) ระหว่างการผลิต (Production) และ หลังการผลิต (Post Production) โดยมีเนื้อหาและประเด็นสำคัญที่สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้

  1. เนื้อหาในการผลิตสื่อ และการสร้างลิขสิทธิ์ทางปัญญา (IP)

สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้ โทมัส พอลสัน (Thomas Polson) ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมบันเทิงของโลกมากว่า 35 ปี ให้ข้อเสนอแนะว่าผู้ผลิตสื่อควรศึกษาพัฒนาการจากที่อื่นๆ ในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ โดยจะเห็นได้ว่าเราจะสามารถเลือกเนื้อหาที่สร้างลิขสิทธิ์ทางปัญญาได้อย่างหลากหลาย สำหรับประเทศไทยเองมีความโดดเด่นในเรื่องราวสยองขวัญและการต่อสู้ หรือในส่วนเรื่องของอาหารก็น่าหยิบมานำเสนอ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ชมประทับใจคือการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นตัวเอง แต่ถูกเล่าออกมาอย่างเป็นสากล คือเข้าใจได้ง่ายแม้ต่างวัฒนธรรม ผู้ผลิตสื่อควรศึกษาโครงสร้างของสื่อ ก็จะทำให้รู้ว่าจะวางโครงสร้างอย่างไรให้เข้าใจได้ง่าย

  1. การอำนวยการผลิตสื่อ และการเตรียมตัวเพื่อการระดมทุน

ไมเคิล เพย์เซอร์ (Michael Peyser) ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูด ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า แม้ปัจจุบันจะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากมาย แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่กำหนดเนื้อหาการรับชมอย่างแท้จริงคือคือผู้ชม ดังนั้นต้องวิเคราะห์ตลาดผู้ชมให้ออกว่าต้องการขายใคร เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีผู้ชมและตลาดที่ต่างกัน  หรือในทางกลับกันหากมีเรื่องราวที่น่าสนใจและต้องการสร้าง ก็สามารถประเมินจำนวนผู้ชมได้ สิ่งสำคัญอีกประการคือต้องวางแผนและกำหนดงบประมาณที่ละเอียดชัดเจนให้ได้ เพราะจะต้องตกลงกับสตรีมเมอร์ถึงสัดส่วนค่าตอบแทน ที่จะต้องให้คุ้มค่ากับการลงทุนและได้รับผลกำไร ในส่วนของการหาทุนนั้น สามารถหาได้จากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร หรือ สตูดิโอใหญ่ที่พร้อมลงทุน หรือแม้แต่ในส่วนของรัฐบาลของบางประเทศ ก็มีนโยบายสนับสนุนทุนให้กับอุตสาหกรรมสื่อ แต่ผู้ผลิตจำเป็นต้องเตรียมตัวพัฒนาบทให้มีไอเดียที่น่าสนใจเสียก่อน

  1. การยกระดับอุตสาหกรรมสื่อของไทย

นิโคลัส ไซม่อน (Nicholas Simon) ผู้อำนวยการสร้างและกรรมการผู้จัดการบริษัท Indochina Productions ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า แม้ความนิยมในการรับชมผลงานจากเกาหลีจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นเนื้อหาไทยกลายเป็นที่นิยมเช่นกัน สิ่งสำคัญคือการนำเสนอเรื่องราวของชีวิต โดยเริ่มต้นเล่าเรื่องที่ผู้ผลิตสนใจและสร้างเกิดความนิยมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นก่อน จากนั้นผลงานก็จะสามารถก้าวไปถึงระดับสากลได้

  1. การใช้เทคนิคพิเศษ

อิริค วีเวอร์ (Erik Weaver) ผู้ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายด้านในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง (M&E) กล่าวในส่วนของการใช้เทคนิค Visual Effect (VFX) ว่า ผู้ผลิตสื่อต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การผลิต อัพเดทความก้าวหน้าต่างๆ ให้ทัน เพราะการผลิตในปัจจุบันแทบดูไม่ออกเลยว่าสิ่งไหนเป็นของจริงหรือไม่ ยิ่งมีผลกระทบของโควิด-19 การใช้ VFX ยิ่งถูกผลักดันให้ก้าวหน้า เพราะมีส่วนในการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตด้วย

  1. การบริหารการผลิตระหว่างประเทศ

พันคำ เวียนตระกูล หนึ่งในคนไทยผู้ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลกในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ นักเขียน และศิลปิน Visual Effects กับประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์มาเกือบ 15 ปี กล่าวว่า ปัจจุบันเราสามารถทำงานกับศิลปินได้ทั่วโลก แม้จะอยู่กันคนละที่ก็ตาม หัวใจหลักของการทำงานร่วมกันในโลกเสมือนจริงก็คือ ต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดที่สามารถออกแบบการทำงานให้ใช้ได้ทั้งโลกเสมือนจริงและโลกจริง

  1. การจัดจำหน่ายผลงาน

หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้อำนวยการฝ่ายจัดรายการ Viu Thailand เผยว่า สตรีมเมอร์ต้องการหาความสดใหม่ ผู้ผลิตควรเข้ามาศึกษาแพลตฟอร์มก่อนว่ามีโครงสร้างแบบใด เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่ยูเซอร์เลือกใช้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการผลิตผลงาน ในขณะที่ โยลันดา มาเซียส์ (Yolanda Macias) ผู้รับผิดชอบด้านการจัดซื้อลิขสิทธิ์ในเนื้อหาสื่อทั่วโลกเพื่อการเผยแพร่ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ เสริมว่า ในการเลือกซื้อผลงานจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าตรงกับ Mood ของช่องทางหรือไม่ และในกรณีที่จะไปทำตลาดในประเทศต่าง ๆ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเองก็มุ่งหวังที่จะได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้สร้างผลงานในท้องถิ่น รวมทั้งสร้างช่องทางสำหรับเนื้อหาในท้องถิ่นด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจในการสัมมนาครั้งนี้อีกมากมาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของอุตสาหกรรมสื่อใน ยุคหลังโควิดทั้งในฝั่งผู้ผลิตและผู้รับชม ปัจจัยเสี่ยงในการผลิตที่ควรให้ความสนใจ การนำ Soft Power ของไทยเข้าเป็นส่วนผสมในผลงาน การผลิตเพื่อเผยแพร่สู่แพลตฟอร์มต่างๆ เป็นต้น

เรียกได้ว่าข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับฟังจากเหล่าวิทยากร ถือเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างแนวทางปฏิบัติ ให้กับผู้ผลิตสื่อไทยทุกท่านได้นำไปปรับใช้และพัฒนาผลงานการผลิตของตนเอง เพื่อยกระดับศักยภาพของผู้ผลิตสื่อไทยในการนำคอนเท้นต์ฝีมือของคนไทยให้ไปสู่เวทีโลกได้ในเวลาอันใกล้

โดยในช่วงท้ายของการสัมมนา ได้รับเกียรติจาก ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ กล่าวขอบคุณเหล่าวิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน พร้อมกล่าวสรุปการสัมมนาในครั้งนี้ โดย ดร.ชำนาญ กล่าวว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมทุกท่านได้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างเนื้อหาไทยให้ไปสู่ระดับโลก ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย และได้เห็นว่าประเทศไทยมีเนื้อหาและ Soft power ในหลายๆ เรื่อง ที่มีตลาดพร้อมรองรับเนื้อหาเหล่านี้ ได้เห็นการนำ เทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนการผลิต บทบาทของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ รูปแบบของแผนธุรกิจที่เหมาะสม เห็นถึงตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดสตรีมมิง และเนื้อหาที่ผู้ชมต้องการจากบริบทแบบไทย ซึ่งผู้ผลิตสื่อไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าผู้ซื้อต้องการ เนื้อหาแบบใด บนแพลตฟอร์มของเขาเผยแพร่เนื้อหาแบบใดอยู่ เอกลักษณ์และความแตกต่างของแต่ละช่อง การไปออกงานเทศกาล ต่างๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่ง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีการสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นทั้งหมดอยู่แล้ว โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีความ ปลอดภัยและ สร้างสรรค์ ซึ่งกองทุนสื่อสามารถช่วยสนับสนุนทุนในการผลิตได้ อยากให้มีการพัฒนาสื่อต่างๆ ของไทยทุกประเภท ให้ไปสู่ระดับสากล

ดร.ชำนาญ กล่าวเสริมอีกว่า  ‘กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยที่มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้มุ่งหน้าสู่ตลาดโลก โดยเรากำหนดภารกิจ ไว้ทั้ง 3 ด้าน คือ พัฒนานักสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ พัฒนาแหล่งเงินทุนในการผลิตและการเข้าถึง และพัฒนาขยายเรื่องราวของไทยให้เข้าถึงผู้เสพสื่อทั่วโลกให้มากขึ้น ในอนาคตเราหวังจะเป็น One-Stop-Service ที่ให้การสนับสนุนผู้ผลิตสื่อไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาไอเดีย หาแหล่งเงินทุน การผลิต ไปจนถึงจัดจำหน่ายและการเข้าถึงตลาดในต่างประเทศ นอกจากนี้เราจะมีการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มรับชมต่าง ๆ ในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะเป็นหัวใจสำคัญจะทำให้ผู้ผลิตสื่อไทยสามารถนำผลงานไปสู่สายตาชาวโลกได้ ในขณะเดียวกันเราก็จะให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ผลิตสื่อ ถึงกระบวนการ พิชชิ่งงาน (Pitching) ในแบบนานาชาติ ที่ผู้ผลิตสื่อทั่วโลกปฏิบัติกันเป็นสากล’

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp