มิติหุ้น-AOT หรือบมจ.ท่าอากาศยานไทย แจ้งมติบอร์ด เมื่อวันพุธที่ 22 มิ.ย.65 รับทราบประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ จากการประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 และสถานการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ฉบับเดือนมิ.ย.65 ซึ่งได้ทบทวนประมาณการปริมาณจราจรทางอากาศให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้ฐานผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงในปี 65 ประกอบกับข้อมูลการขอจัดสรรตารางการบินฤดูหนาวในเดือน ต.ค.65 (ฤดูกาลท่องเที่ยวปีงบประมาณ 66) ที่ยังฟื้นตัวไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเที่ยวบินจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากสมมติฐานและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการจราจรทางอากาศข้างต้น ทอท.ได้จัดทำประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศใหม่ โดยคาดว่า ในปีงบประมาณ 65 ( ต.ค.64-ก.ย.65) จะมีผู้โดยสารรวม 45.60 ล้านคน และปริมาณเที่ยวบินรวม 402,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัวคิดเป็น 33% และ 45% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 62 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19)
สำหรับปีงบประมาณ 66 และปี 67 คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวม 95.70 ล้านคน และ 141.51 ล้านคน การฟื้นตัวคิดเป็น 68% และ 99% ตามลำดับ และปริมาณเที่ยวบินในปีงบประมาณ 66 และปี 67 คาดว่ามีจำนวนรวม 664,796 เที่ยวบิน และ 892,414 เที่ยวบิน โดยฟื้นตัวคิดเป็น 74% และ 99% ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับปกติเช่นเดียวกับปีงบประมาณ 62 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19)
อย่างไรก็ตาม การทบทวนประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศยังคงมีหลายปัจจัยสำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายการเปิดประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน โอกาสการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ หรือโรคระบาดอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครนเป็นสำคัญต่อไป
รายงานข่าวจากบ AOT เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมในการรับโอนสิทธิบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ขอความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงคาดว่าจะเสนอ ครม.อีกครั้งภายในเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้หลังจาก ครม.อนุมัติแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการถ่ายโอนใบอนุญาต รวมถึงเจรจารายละเอียดการจ่ายเงินชดเชยให้ ทย. คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 65 และหลังจากนั้นภายใน 3 เดือน บริษัทพร้อมเข้าบริหาร 3 ท่าอากาศยานได้ทันที โดจใช้วิธีการบริหารในรูปแบบ DUO Airport หรือการจับคู่ท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่กับท่าอากาศยานเชียงราย เพื่อการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
“หลังการรับโอนสิทธิบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง จะเป็นโอกาสเพิ่มน่านฟ้าในการให้บริการ โดยเฉพาะท่าอากาศยานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ ทอท.ไม่มี และถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุด การได้สิทธิบริหารท่าอากาศยานครั้งนี้จะเปิดประตูน่านฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้”
@mitihoonwealth