มิติหุ้น – นางกิตติยา ชัยสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP เปิดเผยว่า บริษัทฯได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีให้เป็นทุน”โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ พิจารณาให้ทุนกับโครงการวิจัยและพัฒนา “ซูริมิไลค์ :โปรตีนจากถั่วเขียว ทดแทนซูริมิ” ในระยะเวลา 1 ปี โดยเมื่อเร็ว ๆนี้ได้มีพิธีลงนามในสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการนวัตกรรมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โครงการ“ซูริมิไลค์ : โปรตีนจากถั่วเขียว ทดแทนซูริมิ” จัดอยู่ในสาขาธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหารแห่งอนาคต (Future Food) โดยธุรกิจนวัตกรรมด้านโปรตีนทางเลือก เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านกระบวนการผลิต โดยนำโปรตีนจากถั่วเขียวมาทดแทนซูริมิ ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างเส้นใยโปรตีนและเทคโนโลยีการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้คุณสมบัติทางกายภาพเคมีเนื้อสัมผัสและโครงสร้างเส้นใยคล้ายซูริมิจากเนื้อปลา
“บริษัทฯ เป็นผู้นำตลาดขนมขบเคี้ยวที่ทำจากปลาหมึกในแบรนด์ “เบนโตะ” มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% ในปัจจุบัน กระแสผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มหันมาสนใจอาหารจากพืช หรือ Plant – based food ซึ่งเป็นอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกมากขึ้น บริษัท ฯ จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยมุ่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิตอาหารที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ออกสู่ตลาด และตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพแต่ยังให้ความสำคัญกับรสชาติและราคาที่เหมาะสม โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์เบนโตะที่ผลิตจากโปรตีนจากถั่วเขียว จะสามารถออกสู่ตลาดได้ในปีหน้า” นายวิโรจน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการซึ่งต้องเป็นโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยโครงการ“ซูริมิไลค์ : โปรตีนจากถั่วเขียว ทดแทนซูริมิ” ของ SNNP เป็น 1 ใน 3 โครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนดังกล่าวในครั้งนี้ จากโครงการต่าง ๆ มากมายจากทั่วประเทศเข้าร่วมขอรับทุนอุดหนุนดังกล่าว ทั้งนี้ ทุนอุดหนุนโครงการแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation Grant) ปีงบประมาณ 2565 เป็นทุนให้เปล่าแบบสมทบทุนบางส่วนสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง (หรือใกล้เคียง) โดยต้นแบบดังกล่าวต้องมีความเป็นนวัตกรรมระดับประเทศขึ้นไปในด้านการผลิต บริการ หรือกระบวนการ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด
@mitihoonwealth