ร่วมพิชิต Cyberbullying ด้วย Bully Fighter บอร์ดเกมที่ออกแบบอยู่บนหลักการเคารพผู้อื่นและรักตัวเอง

88

มิติหุ้น  –  ด้วยวุฒิภาวะต่างๆ ทำให้ปัญหา Cyberbullying ส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น “เด็ก” จึงเป็นเป้าหมายหลักในการป้องกันและแก้ไข สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กต้องสนุกสนานควบคู่ไปกับการให้ความรู้ แนวคิดนี้นำไปสู่การสร้างสรรค์เกม Bully Fighter บอร์ดเกม หรือ เกมกระดานที่มีลักษณะเหมือนเกมเศรษฐี ทอยลูกเต๋าแล้วเดินตามช่อง อุปสรรคในเกมคือ การเจอกับสถานการณ์กลั่นแกล้งในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้เล่นต้องตอบคำถามว่าจะพาตัวเองผ่านสถานการณ์นั้นไปได้อย่างไร สร้างความเข้าใจ และฝึกให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ รับมือกับ Cyberbullying แต่ยังมีความสนุกของเกมอยู่ด้วย

Bully Fighter เป็นบอร์ดเกมที่พัฒนามาจากแนวคิดตั้งต้นของ พิชญ์ พหลภาคย์นันท์ปวินท์ ธีระนังสุสัณหณัฐ พานิชนันทนกุล และ จีรัณ เวชชาภินันท์ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ dtac Young Safe Internet Leaders’ Cyber Camp #3 ที่จัดขึ้นโดย ดีแทค Safe Internet, กลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งน้องในกลุ่มเคยได้เข้าร่วม กิจกรรมของ “โครงการ Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง” โครงการที่มีแนวคิดว่า ‘พวกเราสามารถทำความดีได้ง่ายๆ จากเรื่องใกล้ตัว และเป็นฮีโร่ช่วยเหลือผู้อื่นได้’ กิจกรรมของโครงการคือการถ่ายทอดแนวคิด ‘ฮีโร่ผู้มีจิตอาสาแบบ Paper Ranger’ (มาสคอตประจำโครงการ ) ผ่านการทำสมุดทำมือจากกระดาษเอสี่ใช้แล้วหนึ่งด้านเพื่อนำไปส่งต่อความสุขให้กับเด็กที่ขาดแคลนโอกาสและอุปกรณ์การเรียนทั่วประเทศ

น้องๆ ทั้งสี่คน เริ่มพัฒนาบอร์ดเกมจากการรวบรวมประเด็นและคำถาม และหาคำตอบที่เหมาะสมเพื่อเป็นทางออกให้กับสถานการณ์นั้น บอร์ดเกมได้รับการออกแบบให้เหมาะสำหรับผู้เล่นทุกเพศวัย สามารถเล่นซ้ำหลายๆ รอบได้ เพื่อเพิ่มความเข้าใจและขบคิดเกี่ยวกับ Cyberbullying มากขึ้น เมื่อเข้าใจมากขึ้นก็สามารถรับมือได้ดีขึ้นด้วย

 

Bully Fighter และครูในบทบาทโค้ช กับปัญหา Cyberbullying ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล

ในการใช้ Bully Fighter เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการเรียนการสอนเกี่ยวกับการหยุดความรุนแรงจาก Cyber-bullying ครูจะเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ช คอยกระตุ้นให้เกิดการคิด วิเคราะห์ ถกเถียง และแลกเปลี่ยนมุมมอง ระหว่างนักเรียน

ดีแทคได้ร่วมกับแพลนฯ กระจาย Bully Fighter ไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและโรงเรียนชาติพันธุ์ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลากหลายแตกต่างกันไป ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนชาติพันธุ์อาจแตกต่างแบบที่หลายคนไม่เคยเจอมาก่อน

ชินวัฒน์ วาสนาเรืองสุทธิ ครูจากโรงเรียนบ้านไดปลาดุกราษฎร์ศรัทธาทรงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เล่าว่า การล้อเลียนเรื่องสีผิว สีผม ภาพลักษณ์ภายนอก จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความที่นักเรียนในโรงเรียนรู้จักกันทั้ง 175 คน เรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ก็มีส่วนช่วยให้ปัญหา Cyberbullying ไม่รุนแรงมากนัก

แม้ว่าปัญหาระหว่างเด็กในโรงเรียนจะไม่มาก แต่ก็ต้องปลูกฝังการรับมือ เพราะสังคมนอกโรงเรียนยังมี และที่สำคัญนักเรียนต้องไม่เป็นผู้กระทำเสียเองด้วย ดังนั้นความเข้าใจ Cyberbullying จึงสำคัญมาก”

ครูชินวัฒน์ บอกว่า ตัวเองเป็นครู LGBTQ จึงเข้าใจเรื่อง Cyberbullying เป็นอย่างดี เพราะเจอปัญหานี้มาตั้งแต่เด็ก จนวันนี้ก็ยังเจออยู่บ้าง แต่สามารถผ่านมาได้ด้วยความมั่นใจและรักในตัวเอง ไม่สนใจการกลั่นแกล้ง และได้นำแนวคิดนี้มาสอนเด็กๆ ว่าต้องเริ่มต้นจัดการความรู้สึกของตัวเราเองก่อนเป็นอันดับแรก ต้องรักตัวเอง ทำตัวเองให้ดีและเดินหน้าต่อไป ถ้าเราทำตัวมีปัญหาจมอยู่กับปัญหาก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ชนะชัย นาคนำทอง (ครูลื้อวา) ครูชาติพันธุ์ จากโรงเรียนอุ้งผางวิทยาคม โรงเรียนชาติพันธุ์ ที่มีความหลากหลายของกลุ่มคนที่มาเรียน ทำให้มีการล้อเลียนกันเรื่องภาษา สำเนียงการพูด รวมไปถึงความแตกต่างเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ รายได้ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมากลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียน

ครูชนะชัย บอกว่า ปัญหานี้เป็นมายาวนาน เริ่มต้นจากความไม่ชอบกันระหว่างชนเผ่านำไปสู่การทะเลาะวิวาท ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เปิดใจยอมรับและรวมกันได้ ซึ่งรวมถึงการนำ บอร์ดเกม จากโครงการ เข้ามาช่วยปลูกฝังให้เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย และการปฏิบัติตัวมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าเมื่อคนในสังคมมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายมากขึ้น ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกก็ลดน้อยลง

 

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp