มิติหุ้น – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จํากัด จัดงาน “SPACE-F batch 3 Accelerator Demo Day” เพื่อนำเสนอผลงานสตาร์ทอัพที่ผ่านการเร่งการเติบโตในรุ่นที่ 3 ภายใต้โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SPACE-F โดยมีสตาร์ทอัพที่ร่วมโชว์ผลงานทั้งสิ้น 8 ทีม ได้แก่ EnerGaia –โปรตีนทางเลือกเพื่อสุขภาพจากสไปรูลิน่า POTENT – สารสกัดจากเห็ดป่าสำหรับปรุงเครื่องดื่ม WeavAir – การเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์และ IoT เพื่อควบคุมการเน่าเสียของอาหาร Nabsolute – ไบโอโพลีเมอร์ดัดแปลงในระดับนาโน Jamulogy – เครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพสไตล์อินโดนีเซีย More Meat – โปรตีนจากพืชทำจากเห็ดแครงและโปรตีนถั่วเหลือง eniferBio – โปรตีนถั่วเหลืองเข้มข้นจากผลพลอยได้ในกระบวนการผลิต Mi Terro – บรรจุภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรย่อยสลายได้
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ยังคงเดินหน้าผลักดันสตาร์ทอัพด้านอาหาร โดยได้ดำเนินโครงการ SPACE-F ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับจุดเด่นของประเทศไทยในฐานะการเป็น “ครัวโลก” ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโต และช่วยผลักดันสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหารให้มีคุณภาพ และมีความหลากหลาย โดยจะเน้นการพัฒนานวัตกรรมอาหารโลกใน 9 เทรนด์หลัก ได้แก่ การพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตโปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต การคิดค้นส่วนผสมและสูตรอาหารใหม่ การพัฒนาวัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร”
“NIA จะมีบทบาทเป็น “Focal Facilitator” หรือผู้เชื่อมโยงเครือข่ายในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยโครงการนี้ถือเป็นการร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นหน่วยงานชั้นนำ ซึ่งทำให้โครงการนี้มีจุดแข็งสามารถดึงดูดสตาร์ทอัพต่างชาติมาร่วมโครงการได้ และ SPACE-F ไม่ได้เน้นเพียงสตาร์ทอัพประเภทแพลตฟอร์ม เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่เน้นด้านเทคโนโลยีเชิงลึกหรือ DeepTech เป็นสำคัญ เพื่อมุ่งต่อยอดงานวิจัยให้ใช้ได้จริง และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่ประเทศ”
“ปีนี้มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ 16 ราย แบ่งเป็นโปรแกรมเร่งการเติบโต หรือ Accelerator 8 ราย และโปรแกรมบ่มเพาะ หรือ Incubator 8 ราย และ 2 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพจบจากโครงการแล้ว 33 ราย มีสตาร์ทอัพที่ได้รับทุนจาก NIA ได้รับการลงทุนจากไทยยูเนี่ยน และที่อื่น ๆ รวมถึงได้รับโอกาสในการต่อยอดการทำธุรกิจอีกมากมาย นั่นแปลว่าเราได้เพิ่มโอกาศและศักยภาพให้สตาร์ทอัพในระบบนิเวศเพิ่มขึ้นถึง 49 ราย และความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยและผลักดันให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็น “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” อย่างแท้จริง” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
งานนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของสตาร์ทอัพผู้ร่วมโครงการ ที่จะร่วมสร้างความแตกต่างให้อุตสหกรรมอาหารด้วยนวัตกรรม ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.SPACE-F.co/
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp