มิติหุ้น – ซีแพค กรีน โซลูชัน โชว์เคส “สะพานเฉลิมพระเกียรติ” สะพานที่บางที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย และอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ ณ หน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในบริเวณสำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ ชูความโดดเด่นด้านนวัตกรรม “CPAC ULTRACRETE SOLUTION” ที่ใช้เทคโนโลยี UHPC (Ultra High Performance Concrete) ด้วยการออกแบบโครงสร้างและใช้วัสดุคอนกรีตสมรรถนะสูง ซึ่งเป็นเทรนด์การก่อสร้างสะพานยุคใหม่ของโลก คาดจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สามารถพลิกโฉมและยกระดับวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่ระดับสากล ที่สำคัญยังคงยึดหลักกลยุทธ์ Green Construction หรือการก่อสร้างสีเขียว ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon Construction เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Green Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า “ซีแพค กรีน โซลูชัน ได้ร่วมก่อสร้าง ‘สะพานเฉลิมพระเกียรติ’ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่าง ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับถนนภายในบริเวณสำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ โดยการก่อสร้างครั้งนี้ยังคงเป็นไปตามหลัก Green Construction หรือการก่อสร้างสีเขียว โดยใช้ระบบ Prefabrication และเทคโนโลยีดิจิทัล จึงช่วยลดจำนวนคน ลดเวลาการทำงาน ควบคุมงบประมาณได้ สำหรับโซลูชันหลักที่นำเข้ามาในงานนี้คือ CPAC ULTRACRETE SOLUTION โดยใช้เทคโนโลยี UHPC (Ultra High Performance Concrete) ซึ่งเป็นคอนกรีตสมรรถนะสูงร่วมกับเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างแบบใหม่ ทำให้สามารถลดขนาดโครงสร้าง เหมาะกับการใช้งานก่อสร้างโครงสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักสูง และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นไปตามแนวทางด้าน Low Carbon Construction”
“ความพิเศษของการนำเทคโนโลยี UHPC (Ultra High Performance Concrete) มาใช้ เพราะสามารถนำมาปิดจุดอ่อนของเทคโนโลยีแบบเดิมได้ เนื่องจาก UHPC ใช้แรงอัดได้มากกว่าคอนกรีตทั่วไปถึง 5 เท่า และยังรับแรงดึง ได้เสมือนเหล็ก โดยเรามีวิธีการจัดการเรื่องการบ่ม ที่เป็นระบบบ่มไอน้ำ เพื่อให้การพัฒนากำลังอัดเพิ่มขึ้นได้เร็ว นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังช่วยลดขนาดหน้าตัดของโครงสร้างสะพานบางลงได้ไม่น้อยกว่า 30% ช่วยให้ การทำงานรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม รวมถึงลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดกระบวนการก่อสร้างได้มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับการก่อสร้างในไซต์งานปกติ และอีกหนึ่งคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นคือ เบา ทนทาน และงดงาม”
สำหรับ “สะพานเฉลิมพระเกียรติ” มีความยาว 30 เมตร ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 9 เดือน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ เดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จเดือนกันยายน 2564 โครงสร้างของสะพานเป็นการวางฐานราก 2 ฝั่ง โดยไม่มีเสาค้ำกลางน้ำหรือเสาคานกลางสะพาน และด้วยนวัตกรรมคอนกรีตดังกล่าวที่ไม่ต้องเสริมเหล็ก ทำให้ตัวสะพานมีความ บางมาก โดยคานสะพานช่วงที่บางที่สุดหนาเพียง 30 เซนติเมตร ส่วนพื้นของสะพานเฉพาะงานโครงสร้างไม่รวม งานสถาปัตย์หนาเพียง 2.5 เซนติเมตร ซึ่งนับเป็นที่แรกในประเทศไทย ทั้งนี้การออกแบบและการผลิตดำเนินการภายในประเทศทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังใช้ระบบ Digitization จัดการและบริหารการก่อสร้างด้วย CPAC BIM ที่นำข้อมูลการก่อสร้างใส่ไว้ในรูปแบบโมเดล 3 มิติ ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง ตลอดจนการจัดการหลังการก่อสร้าง และ CPAC Drone Solution โดรนบินสำรวจและติดตามความคืบหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยนวัตกรรมทั้งหมดช่วยให้การก่อสร้างได้เร็วกว่าแผน 15% ลดของเสียจากงานก่อสร้างได้ 10% และใช้แรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของการก่อสร้างปกติ
“สะพานเฉลิมพระเกียรติ นับเป็นแลนด์มาร์คในแง่ของการก่อสร้างอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีการก่อสร้าง สามารถเข้ามาเยี่ยมชมและปรึกษาเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้าง เพราะถือเป็นสะพานแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้วัสดุที่มีความพิเศษ และใช้นวัตกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่ที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) ซึ่งจะทำให้วงการก่อสร้างของประเทศไทยสามารถทัดเทียมในระดับสากล นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของ ซีแพค กรีน โซลูชัน กับการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสู่ Green Construction Solution” นายชนะ กล่าวสรุป
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp