มิติหุ้น – นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การหยุดชะงักของภาคการผลิตทั่วโลก และภาวะเงินเฟ้อสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้มีความผันผวน ในขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มเติบโตได้ดี อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำ มีรายได้มั่นคงและสม่ำเสมอในระยะยาว และยังได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากภาครัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการลงทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความผันผวน จากแรงกดดันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย–ยูเครน ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะได้ข้อยุติในเร็วๆนี้ ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของภาคการผลิตทั่วโลก (Supply Chain Disruption) ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น และธนาคารกลางในหลายประเทศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาด ระบบน้ำประปา โครงข่ายการสื่อสารและข้อมูล ระบบการขนส่งสาธารณะ โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจมีลักษณะกึ่งผูกขาด หรือ มีผู้ขายน้อยราย (Oligopoly/Quasi-Monopoly) และด้วยโครงสร้างธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่มักจะมีการทำสัญญาการให้บริการระยะยาว จึงทำให้สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตได้ และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่น ได้กำหนดเป้าหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด รวมทั้งโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมเพิ่มขึ้น[1] ด้านโครงข่ายการสื่อสารและข้อมูลที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตในโลกที่พัฒนาเข้าสู่ยุคออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตต่อไปในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีความต้องการใช้งานที่สูง โดยมีศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจำนวน 4.1 กิกะวัตต์ (GW) เพิ่มขึ้นจาก 1.6 กิกะวัตต์ (GW) ในปี 2020[2]
นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากภาวะเงินเฟ้อที่มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น และด้วยลักษณะของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่รายได้มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปตามเงินเฟ้อ บลจ.ยูโอบี จึงเห็นว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตและสามารถสร้างโอกาสรับผลตอบแทนได้ในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม โดยกองทุน UINFRA เป็นกองทุนที่เปิดโอกาสให้กับนักลงทุนไทย สามารถเข้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกโดยตรงผ่านกองทุนรวม และเป็นกองทุนที่ลงทุนกระจายครอบคลุมในโครงสร้างพื้นฐานหลายรูปแบบ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนจากการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานในทุกธุรกิจ”
กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ซัสเทนเนเบิล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ ฟันด์ (UINFRA) ระดับความเสี่ยงกองทุน 6 เป็นกองทุน Fund of Funds กองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ตราสารทุนต่างประเทศ ที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วและมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน โดยกระจายการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการตามสภาวะการลงทุนหรือการคาดการณ์สภาวะการลงทุนในแต่ละขณะ โดยเฉลี่ยในรอบปี บัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ปัจจุบัน UINFRA ลงทุนผ่านกองทุนรวมอื่นที่กองทุนลงทุนเกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ได้แก่ KBI Global Sustainable Infrastructure Strategy A EUR Acc บริหารจัดการโดย KBI Global Investors และ กองทุน CS (Lux) Infrastructure Equity Fund IB USD บริหารจัดการโดย Credit Suisse Asset Management และ กองทุน Lazard Global Listed Infrastructure Equity A Acc USD Hedged บริหารจัดการโดย Lazard Asset Management ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุน และการลงทุนในกองทุนรวมอื่นดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนตามสภาวะการลงทุนในแต่ละขณะ
ผู้จัดการกองทุนของทั้งสามกองทุนมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลาย มีปัจจัยพื้นฐานดี มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ มีรายได้ที่มั่นคงจากการทำสัญญาระยะยาว และกองทุนหลักทั้งสามกองทุนดังกล่าวอยู่ในกลุ่ม ESG Article 8 คือ มีการนำเอาปัจจัยด้าน ESG ไปพิจารณาด้านผลกระทบในการลงทุน โดยใช้หลักเกณฑ์ของ SFDR (Sustainable Finance Disclosure Regulation) ซึ่งเป็นกฎระเบียบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป ทั้งนี้กองทุน UINFRA มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
@mitihoonwealth