INVEST ASEAN 2022 ESG Conversations : พลังงานหมุนเวียน ความมั่นคงด้านพลังงาน และสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

121

มิติหุ้น – นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) สรุปสาระสำคัญจากงานสัมมนาระดับนานาชาติ Invest ASEAN 2022 ในหัวข้อ ASEAN FRAMING A FUTURE ESG Conversations : Renewables, Energy Security & The Low Carbon Economy (ในรูปแบบสัมมนาออนไลน์) จัดโดย Maybank Investment Banking Group (Maybank IBG) ในธีมการลงทุนอย่างยั่งยืน การริเริ่ม ESG เชิงกลยุทธ์ในตลาดทุนและธุรกิจต่างๆ โดยความตั้งใจของเราคือการเป็นเวทีสำหรับการนำความคิดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง พร้อมนำเสนอโซลูชั่นเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  • แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่ลดการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีปัจจัยเร่งให้เร็วมากขึ้นหลังจากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Covid-19 ที่ทำให้คนตระหนักถึงผลกระทบด้านสังคมและสุขภาพ
  • ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ การปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) มีความท้าทายทั้งด้าน Demand และ Supply ทั้งความเพียงพอของพลังงานทดแทนที่จะเข้ามาแทนพลังงานดั้งเดิมจากฟอสซิล ในแง่ความสามารถในการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ความมีเสถียรภาพในการผลิต อาทิ การใช้พลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ น้ำ และลม ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ภูมิประเทศ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในการผลิต (ส่งผลต่อต้นทุน) และการจัดเก็บพลังงาน
  • ด้าน Demand เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน ทั้งการตระหนักถึงความสำคัญของการลดการใช้พลังงานที่สร้างมลภาวะ ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกระทบต่อกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่าน
  • ความไม่แน่นอนด้าน Supply ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากในปัจจุบันบันโลกพึ่งพาแหล่งพลังงาน (ทั้งพลังงานจากฟอสซิล และพลังงานทางเลือก เช่น PV Module จากจีน) จากเพียงไม่กี่แหล่ง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ประเทศยุโรปจำเป็นที่จะต้องกลับมาพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลเพื่อให้พลังงานมีพอเพียงต่อความต้องการ อาจส่งผลให้แผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero Carbon อาจช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้
  • ความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่าน การพึ่งพาพลังงานกันระหว่างประเทศ เช่น ในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ
  • หากพิจารณาด้าน Supply พลังงานจากนิวเคลียร์ เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่จะสามารถเข้ามาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ทั้งก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากสังคมในด้านความปลอดภัย (ซึ่งสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งมาจากมุมมองของสังคม จากประสบการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น) ซึ่งในอนาคตน่าจะต้องมีการหารืออย่างเป็นทางการ ที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานจากนิวเคลียร์ในทางใดทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) อย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,020 GW ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตหลักของพลังงานแสงอาทิตย์และลม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 36% และ 40% ของกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีแผนเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานทางเลือกตาม “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP 2018-2037)” โดยมีเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานทางเลือกทั้งสิ้น 18.7 GW หรือคิดเป็นสัดส่วน 37% ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ภายในปี 2037

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp