มิติหุ้น-ภาพรวมตลาดหุ้นไทยใน เดือน กรกฎาคม ยังต้องเผชิญกับสภาวะผันผวนในทิศทางขาลง (sideway down) จากหลายปัจจัยที่รุมเร้า โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนเริ่มเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงช่วง Q2/65 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% จากเดิมคาด 1.0% บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ชี้ปัจจัยที่เป็นแรงกดดันตลาด
โดยเห็นได้จากทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐทรงตัวที่ระดับสูง จากรายงานที่ว่า ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 6.3% YoY ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนเม.ย. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ FED ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% YoY ในเดือนพ.ค.
ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้นทาง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ลดเหลือ 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4.0% ขณะที่การส่งออกปรับเพิ่มเป็น 5-7% จากเดิม 3-5% และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0-7.0% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป จากอัตราเงินเฟ้อในทุกประเทศทั่วโลกทรงตัวในระดับสูงเนื่องจาก “ราคาอาหารและพลังงาน” ที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยปัจจัยข้างต้นกดดันธนาคารกลางแต่ละประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สำหรับประเทศไทยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือนมิ.ย.ขยายตัว 7.66% ในช่วงครึ่งแรกของปีดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 5.61% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงแรง กดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน ส่วนปัจจัยในประเทศที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ แผนรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่และการประกาศผลการดำเนินงานใน Q2/65
คัด 15 หุ้นเด่นที่น่าลงทุน
“นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก หรือ GBS เผยว่า จากปัจจัยข้างต้นจะเป็นตัวกดดันให้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway Down โดยประเมินการเคลื่อนไหวของดัชนีในกรอบ 1,500-1,570 จุด ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ในช่วง sideway down แนะนำ “ทยอยสะสม” หุ้น 3 กลุ่มเด่นๆ หรือ 15 หุ้นเด่นที่น่าลงทุน
1.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ในช่วงครึ่งปีหลัง และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลิกเพดานจ่ายปันผลและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, KTB และ TISCO
2.กลุ่มที่ได้อานิสงส์จากมติครม.ให้ยกเว้นภาษี VAT สำหรับผู้ประกอบการ Data Center ได้แก่ ICN, ITEL, MFEC และ INSET
3.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากความกังวลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ BH, BDMS, CHG, BCH, PRINC และ WPH
@mitihoonwealth