สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 4 – 8 ก.ค. 65 และแนวโน้ม 11 – 15 ก.ค. 65

179

ราคาน้ำมันย้อนหลัง 15 วัน

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ปิดตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 2% หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น สะท้อนเศรษฐกิจอาจไม่ถดถอยตามที่เคยกังวลไว้ก่อนหน้า โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ในเดือน มิ.ย 65 เพิ่มขึ้น 372,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ทรงตัวอยู่ที่ 3.6% เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 อย่างไรก็ดี การจ้างงานมากขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ในการประชุมวันที่ 25 – 26 ก.ค. 65 จากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1.5% – 1.75%

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนยังไม่คลี่คลาย กดดันความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ โดยวันที่ 10 ก.ค. 65 ทางการจีนรายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron BA.5.2.1 ในเมือง Shanghai ซึ่งรองประธานคณะกรรมการสุขภาพของ Shanghai (Shanghai Health Commission) นาย Zhao Dandan ออกมาเตือนว่าเมือง Shanghai มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมการแพร่กระจายตามนโยบายผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นศูนย์ (Zero-COVID) จึงประกาศให้มีการตรวจหาเชื้อ COVID-19 แก่ประชาชน ในวันที่ 12 – 14 ก.ค. 65 เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ ทั้งนี้ วันที่ 9 ก.ค. 65 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (National Health Commission) รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในเมือง Shanghai 61 ราย เป็นผู้แสดงอาการ 9 ราย และไม่แสดงอาการ 52 ราย เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 59 ราย เป็นผู้แสดงอาการ 11 ราย และไม่แสดงอาการ 48 ราย

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ประธานาธิบดีคาซัคสถาน นาย Kassym-Jomart Tokayev ประกาศเตรียมเส้นทางขนส่งน้ำมันดิบทดแทนการขนส่งผ่านท่อ Caspian Pipeline Consortium (CPC) หากต้องระงับการขนส่งตามคำสั่งศาลรัสเซียที่ให้หยุดดำเนินการเป็นเวลา 30 วัน เหตุตรวจพบน้ำมันรั่วไหลเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 อย่างไรก็ดี วันที่ 7 ก.ค. 65 นาย Bolat Akchulakov รมว.กระทรวงพลังงานของคาซัคสถานแถลงการขนถ่ายน้ำมันดิบผ่านท่อ CPC อยู่ในระดับปกติที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (คาซัคสถานผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ประมาณ 1.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
  • กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและการควบคุมการส่งออก (Federal Office for Economic Affairs and Export Control: BAFA) ของเยอรมนี รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 65 เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 208.91 ล้านบาร์เรล (1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • นักลงทุนกังวลที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือการที่ประเทศมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดย Bloomberg Poll คาดการณ์ว่ามีโอกาส 38% ที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายใน 12 เดือนข้างหน้า โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 75% ในการประชุมวันที่ 25 – 26 ก.ค. 65 จากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1.5% – 1.75%
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.ค. 65 เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 423.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน
  • สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ ในเดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ +5% จากปีก่อนหน้า สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 เนื่องจากราคาหมูเพิ่มสูงขึ้น

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp