กลุ่มทิสโก้แจ้งผลประกอบการ งวดครึ่งแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 3,644 ล้านบาท

184

มิติหุ้น – กลุ่มทิสโก้ แจ้งผลประกอบการงวดครึ่งแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 3,644 ล้านบาท เติบโต 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการกลับมาเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และการฟื้นตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย รวมถึงการตั้งสำรองทางเครดิตที่ลดลง ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ในระยะข้างหน้ายังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีคุณภาพท่ามกลางปัจจัยความท้าทายรอบด้าน

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 จำนวน 3,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องมาจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งตามแผนการขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” อีกทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัยเริ่มมีการฟื้นตัว ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) ปรับลดลง สอดรับกับคุณภาพสินทรัพย์ของพอร์ตสินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้น  โดยกลุ่มทิสโก้ มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ 2.2% ของสินเชื่อรวม และยังคงรักษาระดับเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่แข็งแกร่งที่ถึง 253% อย่างไรก็ตามธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอ่อนตัวลง ตามภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย โดยรายได้จากทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนมีการชะลอตัว รวมถึงผลกำไรจากเงินลงทุนที่ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงมาตรการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะส่งผลในเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การเร่งตัวขึ้นอย่างมากของเงินเฟ้อที่มีแรงหนุนจากราคาพลังงานและราคาสินค้า จะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและทำให้รายได้ที่แท้จริงของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับตัวลดลง นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้ ยังจะลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางได้ ดังนั้นจึงถือเป็นปัจจัยความท้าทายของภาคธุรกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

“การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในช่วงที่เหลือของปี 2565 จะยังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยยึดหลักการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผลตอบแทน และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้น พร้อมปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการลูกค้า ผสมผสานกับการให้คำแนะนำที่ดีและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจ รวมถึงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่อง”

สรุปผลประกอบการสำหรับงวดไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2565

ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% จากไตรมาส 2 ของปี 2564 เนื่องมาจากการกลับมาเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อในกลุ่มจำนำทะเบียนขยายตัว 4.5% จากสิ้นปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเติบโตผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น 11.7% ตามการฟื้นตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 29.0% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานจากธุรกิจจัดการกองทุนอ่อนตัวลง 15.5% จากการกองออกทุนใหม่ที่ลดลงในสภาวะตลาดทุนที่ซบเซา

สำหรับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2565 กำไรสุทธิมีจำนวน 3,644 ล้านบาท ขยายตัว 6.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค การฟื้นตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย และค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ที่ 18.1%

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีจำนวน 203,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.2% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อ SMEs ในส่วนของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ลดลงจากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 2.2% ของสินเชื่อรวม โดยบริษัทยังคงปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 253%

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 25.3% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 21.0% และ 4.3% ตามลำดับ

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp