มิติหุ้น – ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะตัวแทนสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงทิศทางภาคธนาคารไทยเพื่อสนับสนุนการยกระดับภาคธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ปลดล็อกสภาพคล่อง เสริมพลังด้านการเงินให้ภาคธุรกิจ” ในงานสัมมนา “ปลดล็อก ยกระดับ ก้าวสู่เมืองน่าอยู่จังหวัดนนทบุรี” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ว่า สมาคมธนาคารไทยเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนของภาคธุรกิจและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจให้สอดรับกับบริบทโลกยุคดิจิทัลและการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลัก ESG(Environment, Social, Governance) ตอบโจทย์ BCG economy(Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งจ.นนทบุรี ที่พบว่าธุรกิจกว่า 99% คือ ธุรกิจ SME และมีส่วนสำคัญทำให้จ.นนทบุรีมีผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) มากเป็นอันดับ 10 มีมูลค่าราว 3.45 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2% ของเศรษฐกิจไทย
จากภาพรวมธุรกิจของนนทบุรี ที่ส่วนใหญ่เป็น SME และกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งความท้าทายจากต้นทุนที่สูงขึ้นตามทิศทางเงินเฟ้อ ซึ่งอาจกระทบสภาพคล่องและความสามารถในการทำกำไร ตลอดจนความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ซึ่งสมาคมธนาคารไทยตระหนักถึงความท้าทายของภาคธุรกิจและกำลังดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยปลดล็อกข้อจำกัดและสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น โครงการ “Smart Financial and Payment Infrastructure for Business” หรือ “PromptBiz” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า ข้อมูลการชำระเงิน และข้อมูลระบบภาษีของภาครัฐเข้าด้วยกัน ในอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการนี้ รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะถูกพัฒนาไปใช้ใน Alternative Credit Scoring เพื่อนำไปพิจารณาสินเชื่อ
นอกจากนี้ ภาคการเงินพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลัก ESG อาทิ การสนับสนุนการออกตราสารหนี้สีเขียวหรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม(Green bond) เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ BCG economy การสนับสนุนเงินทุนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม สินเชื่อที่อิงกับความยั่งยืน เช่น เงินกู้ส่งเสริมความอย่างยั่งยืน(Sustainability Linked Loans) และตราสารหนี้เพื่อสังคม(Social bond) ซึ่งเป็นมิติใหม่ของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในการสนับสนุนภาคธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน
@mitihoonwealth