ttb มองส่งออกการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยไม่สะดุดจากหลากหลายความท้าทายทางเศรษฐกิจ

151

 

ตั้งแต่ปี 2563 การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยอยู่ในภาวะซบเซาเนื่องจากมีการปิดจุดผ่านแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2564 แม้ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ แต่การส่งออกทางชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านและผ่านแดนไปยังประเทศที่สามกลับเติบโตสวนกระแสแตะ 1 ล้านล้านบาท สำหรับในปี 2565 ทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างมีมาตรการผ่อนปรนการข้ามแดนและผ่านแดนระหว่างกัน ทำให้เป็นโอกาสของการค้าชายแดนที่จะสามารถฟื้นตัวได้

อย่างไรก็ดี จากปัญหาด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และเมียนมา รวมถึงมาตรการคุมเข้มโควิดของจีน  เป็นโจทย์ท้าทายการส่งออกทางการค้าชายแดนและผ่านแดนว่าจะสามารถโตต่อเนื่องหรือสะดุดในช่วงครึ่งปีหลังนี้

 เส้นทางส่งออกการค้าชายแดนและผ่านแดนฟื้นตัวเร็ว หนุนด้วยการส่งออกผ่านแดนไปจีนที่ขยายตัวเร่ง

ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ปี 2559 – 2562 การส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนอยู่ที่ปีละ 7.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งออกทางชายแดนไปยังประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมารวมปีละ 5.6 แสนล้านบาท และการส่งออกผ่านแดนไปยังประเทศที่สาม ซึ่งหลัก ๆ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม เฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท

สำหรับในปี 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ยอดส่งออกทางการค้าชายแดนลดลงเหลือ 4.5 แสนล้านบาท หรือลดลง 7.5% ขณะที่การส่งออกผ่านแดนยังคงเติบโต โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.4% โดยตลาดหลักเป็นจีนที่เติบโตดี และในปี 2564 แม้ยังมีสถานการณ์การระบาดอยู่ แต่การค้าชายแดนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่เข้าสู่เส้นทางฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด นอกจากนี้ มีปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยสนับสนุนทำให้ยอดส่งออกการค้าชายแดนและผ่านแดนโตในอัตราเร่ง โดยเพิ่มขึ้นแตะ 1.03 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35% ขณะที่ภาพรวมส่งออกทางการค้าระหว่างประเทศของไทยขยายตัว 18%

ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 มาตรการ ZERO COVID-19 ของจีน ฉุดส่งออกผ่านแดนไปจีนลดลง 25%

หลังจากที่ทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างมีมาตรการผ่อนปรนการข้ามแดนและผ่านแดนระหว่างกัน โดยทางฝั่งไทยได้ทยอยเปิดจุดผ่านแดนที่มีการปิดไปชั่วคราว ส่งผลให้การค้าขายตามชายแดนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง  โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกทางการค้าชายแดนอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%  ซึ่งเป็นการเติบโตทั้ง 4 ประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้าน นำโดยมาเลเซียยังเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าผ่านแดนกับไทยสูงสุดที่ 7.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ส่งออกไป สปป.ลาว และเมียนมา ขยายตัวสูงที่ 22% และ 34% จากการส่งออกสินค้าหลักเช่น กลุ่มน้ำมันที่ได้แรงหนุนจากราคาปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การส่งออกการค้าผ่านแดนกลับมีอัตราการเติบโตลดลง 24% แรงฉุดมาจากตลาดจีนที่ส่งออกไปเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท ลดลงถึง 25% สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้แปรรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยอดส่งออกผ่านไปที่เวียดนามลดลง 8% สาเหตุที่การค้าชายแดนและผ่านแดนมีสัดส่วนการค้าลดลง เนื่องจากจีนใช้มาตรการ ZERO COVID-19 และมีการปิดด่านการค้าอย่างต่อเนื่องทำให้สินค้าส่งออกจากเวียดนามผ่านไปจีนลดลง ทำให้ภาพรวมการส่งออกการค้าชายแดนและผ่านแดนในช่วง 5 เดือนแรกลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

แนวโน้มส่งออกการค้าชายแดนและผ่านแดนไม่สะดุดในช่วงครึ่งปีหลัง คาดทั้งปี 2565 ยอดส่งออกอยู่ที่ 1.02 ล้านล้านบาท และมาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง ในส่วนของส่งออกทางการค้าชายแดน เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มดีมานด์ของประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้าน คาดว่าการส่งออกไปมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศคู้ค่าอันดับหนึ่งด้านการค้าชายแดนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการกลับมาทยอยเปิดด่านเพิ่มขึ้นของทั้งสองฝั่ง เช่นเดียวกับกัมพูชาที่มีแนวโน้มนำเข้าจากไทยเพิ่มต่อเนื่องได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และอะไหล่

อย่างไรก็ดี การส่งออกไป สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่คิดเป็นสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 31%คาดว่าจะมีแนวโน้มโตต่อเนื่องแต่ไม่เป็นอัตราเร่ง โดยสปป.ลาว กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจด้านการเงินอย่างหนัก ค่าเงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนพุ่งสูงถึง 23.6% ได้ส่งผลกระทบไปถึงการค้าชายแดนไทย – สปป.ลาว โดยฝั่งไทยรับเฉพาะเงินสดเป็นเงินบาทนอกจากนี้ สินค้าไทยนำเข้าไปขายได้น้อยลง เนื่องจากราคาแพงขึ้นสาเหตุจากเงินเฟ้อฝั่งลาวสูงมาก อย่างไรก็ดี จากการที่ สปป.ลาว จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากไทย

รวมทั้งสินค้าอุปโภคที่จำเป็น ทำให้การส่งออกไปยังชายแดนสปป.ลาวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งออกไปชายแดนเมียนมาที่เติบโตดีเฉลี่ยเดือนละ 1.2 – 1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 แม้อยู่ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง  โดยสินค้าส่งออกไปเมียนมาที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าประเภท เครื่องดื่ม อาหาร ผ้าผืน ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด ธนาคารกลางเมียนมาออกมาตรการควบคุมปริมาณเงินตราต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าไทย และเมียนมาที่เป็นการค้าระหว่างประเทศ และเป็นสินค้ากลุ่มที่มูลค่าสูงเนื่องจากรัฐบาลสั่งห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย แต่ผลกระทบต่อการค้าชายแดนยังอยู่ในระดับค่อนข้างจำกัด จากการที่รัฐบาลเมียนมายังอนุญาตให้ใช้เงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับไทย และการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัว เป็นแรงหนุนให้การส่งออกทางการค้าชายแดนทั้งปี 2565 มีมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15%

สำหรับในส่วนของการค้าผ่านแดน พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นมากจากสัดส่วน 17% ของภาพรวมการส่งออกการค้าชายแดนและผ่านแดนภาพรวมในปี 2560 เร่งขึ้นเป็น 43% ในปี 2564 จากการที่จีนขึ้นแท่นเป็นคู่ค้าส่งออกอันดับหนึ่งแซงหน้ามาเลเซียเป็นครั้งแรก  แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ทิศทางส่งออกชายแดนยังคงขยายตัวได้ ขณะที่การส่งออกผ่านแดนลดลงจากการที่จีนมีนโยบาย ZERO COVID-19 ได้ฉุดยอดส่งออกให้ลดลงมาก โดยสัดส่วนส่งออกไปจีนลดลงเหลือ 14% ขณะที่ มาเลเซียกลับมาครองแชมป์ด้วยสัดส่วน 19%

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่าทางการจีนจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเริ่มเปิดเมืองมากขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยผ่านแดนไปจีนตอนใต้ทยอยฟื้นกลับมา นอกจากนี้ คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงจากจีนถึง สปป.ลาว ที่เวียงจันทน์ติดกับจังหวัดหนองคาย เพิ่มยอดการส่งออกทางค้าผ่านแดนทั้งปี 2565 อยู่ที่ 3.7 แสนล้านบาท ลดลง 20% จากปี 2564 และทำให้ภาพรวมสถานการณ์ส่งออกทางค้าชายแดนและผ่านแดนทั้งปี 2565 มีมูลค่า 1.02 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับการส่งออกของปี 2564

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp