แยกให้ออกว่าระหว่าง Market Maker ไม่ได้เจอปั่นด้วย Wash Trading

96

มิติหุ้น – สำหรับผู้ที่ลงทุนไม่ว่าจะตลาดเงิน (Money Market), ตลาดทุน (Capital Market) หรือ ตลาดการลงทุนในสินทรัพย์โลกใหม่อย่างคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ล้วนแต่เคยได้ยินคำว่า “Market Maker” หรือเรียกภาษาง่ายๆว่า “เจ้ามือ” ซึ่งมักจะมาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และ มีความหมายค่อนข้างจะหนาวๆ ร้อนๆ อยู่พอสมควร แต่ถ้าหากเราจะลงความเห็นว่าการมี “Market Maker” ทำให้ไม่น่าลงทุนนั้น ก็ดูจะโหดร้ายไปสักหน่อย

นางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand คอมมูนิตี้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ให้ความเห็นว่า แท้จริงแล้วอาจจะต้องทำความเข้าใจในอีกมุมมองว่า “Market Maker” มีหน้าที่ทำให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้น (Liquidity) หากการลงทุนในตลาดรองขณะนั้นเงียบเหงาลงหรือขาดสภาพคล่อง ทั้งฝั่งตลาดทุนที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จนถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ ศูนย์ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange ที่บางที Volume การซื้อขายบางวันก็ผันผวน บางวันก็ขยับแบบซึมๆ เกิดจากการที่ปริมาณการซื้อขายไม่ Match กัน

เมื่อเกิดสถานการณ์นี้ “Market Maker” ก็จะเข้าไปทำหน้าที่ทันที โดยการตั้งราคารับซื้อ (Bid) และตั้งราคาขาย (Offer) ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด อาจจะสามารถทำได้เองหรือใช้ Bot ตั้งออเดอร์ เพื่อให้ราคาที่เกิดขึ้นในตลาดสะท้อนความต้องการของผู้ลงทุนอย่างแท้จริงในระยะเวลาที่สั้นลงเมื่อเทียบกับการที่ต้องรอคอยให้ราคาสินทรัพย์เป็นไปตามกลไก ซึ่ง “Market Maker” อาจได้สิทธิประโยชน์จากการทำหน้าที่ เช่น การลดค่า คอมมิชชั่น จากตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งอาจได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจากการทำธุรกรรมซื้อขาย

นอกจากนี้ “Market Maker” อาจทำ Arbitrage คือ การทำกำไรจากความแตกต่างของราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่ซื้อขายอยู่คนละตลาด เช่น ราคาบิทคอยน์ใน Exchange A ถูกกว่าที่ Exchange B “Market Maker” ก็ทำการซื้อบิทคอยน์จากที่ Exchange A แล้วโอนไปที่กระดานเทรด Exchange B และขายเพื่อทำกำไร ผลลัพธ์ที่ได้ก็ Win-Win ราคาตลาดเป็นไปตามกลไก และ ราคาสินทรัพย์ที่สะท้อนความต้องการของนักลงทุน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ “Market Maker” ดำเนินการจะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดโดยรวม ทั้งการการชี้นำให้นักลงทุนเข้าใจผิดเพื่อผลักดันราคา และ สร้างปริมาณการซื้อขาย รวมถึงการเข้าไปซื้อขายและจับคู่กันเอง หรือที่เรียกว่า “Wash Trading”

ซึ่งการ “Wash Trading” มองแบบผิวเผินก็จะมีลักษณะคล้ายกับ “Market Maker” แต่จะมีความต่างที่จุดประสงค์การทำ ซึ่ง “Wash Trading” เป็นการปั่นราคาสินทรัพย์ให้มูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง โดยทำการซื้อขายเองโดยคนเดียวกัน หรืออาจทำเป็นขบวนการในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อสร้างปริมาณการซื้อขายจนนำไปสู่การตั้งราคาที่สูงขึ้น และเมื่อนักลงทุนเห็นโอกาส (ปลอมๆ) จากการลงทุนสินทรัพย์นั้น ก็กระโจนไปเข้าไปในกลเกมนี้อย่างสุดตัว จนนำมาสู่การขาดทุนจากการติดดอยในสินทรัพย์ที่ถูกปั่นจนเกินมูลค่า

แม้การ “Wash Trading” ถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 แต่กลับมีหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่นักลงทุนหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ ตั้งแต่อดีตในชื่อ “ปั่นหุ้น” จนถึงปัจจุบันที่เปลี่ยนชื่อ “Wash Trading” กับสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่ากลเกมในลักษณะนี้ก็ยังคงติดตามนักลงทุนไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

ด้วยพฤติกรรมที่มีความใกล้เคียงกัน แต่ให้ผลลัพธ์แตกต่างด้วยเจตนา อีกทั้งการตัดสินว่าผิดหรือถูกในทางกฎหมาย อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่จับต้องได้นัก การศึกษาทิศทางตลาด หมั่นติดตามข่าวสาร และ การหาข้อมูลของนักลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเสริมเกราะความรู้ให้กับตัวเองและสามารถทำกำไรในสนามการลงทุนนี้ได้อย่างปลอดภัย

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp