ม.ขอนแก่น จับมือ Google จัด Hackathon AppSheet พัฒนานวัตกรรมเพื่อการทำงานยุคดิจิทัล

143

มิติหุ้น  –  เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ Google นำโดย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Mr. Edward Satio Customer Engineer  Google Workspace, APAC  จัดการแข่งขัน Hackathon  AppSheet  แอปพลิเคชัน นำบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกว่า 30 คน ร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อการทำงานยุคดิจิทัลโดยปราศจากการเขียนโปรแกรมหรือการเขียนโค้ดดิ้ง โดยมีการฝึกอบรมจากบริษัทกูเกิลรวมระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ชั้น 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยว่า   กิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) ครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่กูเกิลจัดเป็นครั้งแรกในเอเชียแฟซิฟิก โดยที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่เราทำงานร่วมกันมานาน  กูเกิลเห็นความสำคัญ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าถึงเครื่องมือ กับเจ้าของในการพัฒนาระบบ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถ พัฒนาต่อยอดได้เร็ว เมื่อ 10  ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ google apps for education support programs ได้รับการสนับสนุนให้ใช้กูเกิลแอปพลิเคชันฟรีมาตลอดเป็นระยะเวลายาวนาน พอมีกิจกรรมร่วมกันนอกจากเราเป็นผู้ใช้ยังได้เป็นผู้พัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง  กิจกรรมครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวแอปที่อยู่ในกูเกิลเวิร์คสเปซ  ที่เราใช้อยู่ ชื่อ แอปชีท (AppSheet) เป็นโปรแกรมหรือเครื่องมือ ที่ใช้ในการพัฒนาแอปในโทรศัพท์มือถือ  หรือใน ไอแพด หรือแทปเล็ต ที่พัฒนาแบบง่าย ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ใช้วิธีการตั้งค่าอยู่ในระบบสามารถที่จะใช้แอปนี้ส่งต่อแล้วไปใช้งานได้เลย วิธีการสร้างสะดวก ใช้เทคนิคที่เรียกว่าโนโค้ด คือไม่ต้องเขียนโค้ด

            “เมื่อเห็นว่าเราน่าจะพัฒนาทีมงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สามารถที่จะทำแอปตัวนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ก็สามารถใช้งานได้ เราก็เลยเริ่มต้นโดยการทำ Hackathon ก็คือให้ทีมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประมาณ 30 คน เริ่มต้น รู้จักวิธีการ และพัฒนาแอปพลิเคชัน ตัวนี้ออกมา และหวังว่า วันข้างหน้าเราจะให้ทีมนี้แหละที่จะสอนคนอื่นและขยายผลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ สามารถสร้างเครื่องมือเป็นแอปพลิเคชันง่าย ๆ ที่อยู่บนมือถือ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้โปรแกรมมากนัก  ความต้องการในการสร้างเครื่องมือดิจิทัล มีอยู่อย่างมากจนกระทั่งทำให้ส่วนกลาง โดยเฉพาะของฝ่ายดิจิทัลเองรับมือไม่ไหว จากความต้องการเหล่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะง่ายและสะดวกที่สุดคือการทำให้ทุกคนทำได้เองในเบื้องต้น โดยที่มีฝ่ายดิจิทัลหรือส่วนกลางของมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุนให้การช่วยเหลือ ก็จะทำให้เราตอบสนองผู้ใช้ได้มากขึ้น”

Mr. Edward Satio Customer Engineer   Google Workspace, APAC  กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของ Hackathon KKU  ตลอดเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากมายจากผู้เข้าร่วมอบรม  พบความท้ายทายมาจากหลายด้าน อาทิ  ทำอย่างไรจะพัฒนาความสามารถของบุคลากร  ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยมีความปลอดภัย และทำอย่างไรจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ครบครัน   นับเป็นความท้าทายที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่ต้องพัฒนาและหาแนวทางที่จะตอบสนองความท้าทายเหล่านั้น  ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและกูเกิลเป็นไปอย่างราบรื่น จากการอบรมครั้งนี้ได้เห็นผลลัพท์ดี ๆ จาก Hackathon ที่ผลักดันคำตอบต่าง ๆ ไปสู่ผลผลิต แอปพลิเคชัน ที่จะช่วยให้บุคลากรและมหาวิทยาลัยดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น จากการใช้ AppSheet แล้วจะสามารถตอบปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องการตอบได้ ท้ายที่สุดความร่วมมือระหว่างกูเกิลกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

จุฑารัตน์ คำหวาน นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการ งานสารบรรณ กองบริหารงานกลาง   (ซ้าย) ทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขัน Hackathon  AppSheet  กล่าวว่า  การเข้าร่วมอบรม AppSheet ทำให้เราสามารถพัฒนาแอปต้นแบบเกี่ยวกับการแจ้งปัญหาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยที่เราไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์  สามารถพัฒนาแอปด้วยเครื่องมือ ที่เรียกว่าแอปชีท โดยกูเกิลได้โดยไม่ต้องใช้โค้ด โดยไม่มีการโค้ดดิ้ง

ด้าน นายภาสพันธ์ จิโนทา นักวิชาการโสตทัศนศึกษากองบริหารงานกลาง ( ขวา) กล่าวเสริมว่า  “แอปพลิเคชัน ของเราจะมีการใช้งานโดยเริ่มต้นจากแจ้งทุกปัญหาของมหาวิทยาลัยมาที่แอปชีทของเรา ปัญหาพวกนี้ก็จะไปถูกคัดกรอง จากเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเพื่อจะเข้าไปดูแลปัญหาของผู้แจ้งได้ทันถ่วงที ผู้แจ้งสามารถตรวจสอบได้เลยว่า เรื่องถึงไหน แจ้งเรื่องแล้ว สถานะกำลังติดตาม หรือแล้วเสร็จ  อนาคตเราอยากพัฒนาระบบ AI สามารถแจ้งเรื่องปุ๊บสามารถแจ้งไปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที  ขอเชิญชวนบุคลากรใช้เครื่องมือจากกูเกิล  AppSheet    นี้เพื่อการพัฒนางาน ให้มีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัลนี้”

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp