ทีเอ็มบีธนชาต จับมือพันธมิตร 4 บลจ. ชั้นนำ จัดสัมมนาออนไลน์ “จับทิศทางเศรษฐกิจพิชิตการลงทุนครึ่งปีหลัง” แนะสินทรัพย์เสี่ยงยังมีพลัง ครึ่งปีหลังยังต้องลงทุน พร้อมเจาะเทรนด์ตลาดพิชิตพอร์ต

40

มิติหุ้น  –  นายอภิวัฒน์ น้าประทานสุข  ผู้บริหารกลยุทธ์ด้านการลงทุน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า “ภาพรวมตลาดในช่วงครึ่งปีหลังนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ตลาดหุ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และควรเริ่มลงทุนกันตั้งแต่ตอนนี้” เนื่องจากมี 3 ปัจจัยหลักสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้แก่ 1. อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว 2. นักลงทุนในตลาดรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่สำคัญ เช่น Fed ไปมากแล้ว และ 3. ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังยากที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาด Developed Market (DM) นั้น ต้องเน้นลงทุนในประเทศที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นไปมากแล้ว และประเทศที่ดอกเบี้ยยังไม่มีแนวโน้มจะขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่ดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น จึงเป็นที่มาว่าต้องลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แต่ควรชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปเพื่อรอดูสถานการณ์ โดยในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต้องเน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งราคาได้ปรับตัวลงมามาก และจะได้ประโยชน์จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลงตามการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่ลดลงอย่างเต็มที่ ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นต้องลงทุนเช่นกัน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศ และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ไม่มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 2022 นี้

นายภูริพัฒน์ ละเอียดธนะกิจ นักกลยุทธ์ด้านการลงทุน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า ภาพรวมตลาด Emerging Market (EM) และสินทรัพย์อื่น ๆ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คือ เรื่องเงินเฟ้อ โดยในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้มีโอกาสที่จะขยับตัวสูงขึ้น ก่อนจะชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจเติบโตได้แบบชะลอตัวลง ขณะที่อานิสงส์เชิงบวกจากการเปิดประเทศทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ส่วนกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงธนาคารกลางอื่น ๆ ที่ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น อาจจะส่งผลต่อเงินทุนไหลออก โดยล่าสุดกว่า 60 ประเทศที่มีการขยับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ภาพรวมเศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโตสูงและเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่จัดการได้ แม้ธนาคารกลางอินเดียจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ตลาดหุ้นอินเดียก็ยังมีนโยบายการคลังที่สนับสนุนอยู่ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในอาเซียนที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง ได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจมากขึ้น และเงินเฟ้อแม้จะสูงแต่ก็ยังไม่มากเท่ากับเทียบกับภูมิภาคอื่น ส่วนตลาดหุ้นจีนก็มีมุมมองที่ดีขึ้นจากท่าทีของทางการที่ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เคยเข้มงวดก่อนหน้านี้  และตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นตลาดหุ้นที่ยังคงต้องดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง อีกทั้งมีประเด็นเรื่องหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีน้ำหนักมากในตลาดหุ้นไทยที่คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรมีโอกาสถูกปรับขึ้นได้จำกัด จากราคาน้ำมันที่เริ่มลดลงในช่วงนี้ รวมถึงถูกกดดันจากแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นอกจากนี้  ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ในหัวข้อ “เจาะเทรนด์ตลาดพิชิตพอร์ตครึ่งปีหลัง” โดยผู้เชี่ยวชาญจาก 4 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำ ได้แก่ Amundi, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

Mr. Christophe Romero, Managers of TSP Funds, Amundi กล่าวว่า มุมมองการลงทุนในครึ่งปีหลังของ 2022 เป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับตลาดทางการเงิน เริ่มต้นจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ปรับเปลี่ยนท่าทีต่อแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินในช่วงต้นเดือนมกราคม ส่งผลให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์สงครามในยูเครนส่งผลให้แนวโน้มเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง ส่งผลให้ตลาดเงิน ซึ่งเริ่มจากตลาดพันธบัตรมีการปรับราคาอย่างรุนแรงและเริ่มขยายมาสู่สินทรัพย์เสี่ยงในเวลาต่อมา โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทที่มีการประเมินมูลค่ารุนแรง ตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดไปจนถึงสินทรัพย์ประเภทที่มีระดับความเสี่ยงสูงสุดปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน  นอกจากนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน ทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มถดถอย โดยช่วงไตรมาสแรกดัชนีตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 20% เป็นการปรับตัวลดลงครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 50 ปีที่ผ่านมา นับว่ายังเป็นระดับการปรับตัวลดลงที่น้อยกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตน้ำมันครั้งแรกในปี 1973 (- 45% ) ช่วงภาวะฟองสบู่ในปี 2000 – 2002 (- 49% ) และช่วงวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 ( – 57%) สำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าดัชนี SET จะมีผลการดำเนินงานที่ดีมากในช่วง 4 เดือนแรก แต่ท้ายสุดก็ร่วงลงมาเกือบ 5% สำหรับตลาดพันธบัตรตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกมีการปรับตัวลดลงกว่า 7% ขณะที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนทั่วโลกปรับตัวลดลงถึง 12.2%

Mr. Florent Dang Tran Managers of TSP Funds, Amundi กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการปรับพอร์ตรับมือสภาพตลาดที่ผันผวนจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบตลาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กองทุนสามารถควบคุมความผันผวนของกองทุนได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในภาวะตลาดผันผวนสูงในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา ทีทีบี สมาร์ท พอร์ต  ปรับลดความเสี่ยงโดยรวมด้วยการเพิ่มระดับการถือครองเงินสดการขายหุ้นในจีน และยุโรป พร้อมทั้ง ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนลง ได้แก่ กองทุน Schroder Global Credit Income กองทุน Jupiter Dynamic Bond และกองทุน Pimco Income เน้นวางพอร์ตการลงทุนเตรียมพร้อมรับมือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยลดน้ำหนักการลงทุนสินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวสูงต่ออัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และยังคงสัดส่วนการลงทุนบางส่วนในหุ้นเติบโตจากการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างรวดเร็ว สำหรับกองทุน ttb smart port 5 go-getter ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นทั้งในและทั่วโลกเป็นหลัก ก็ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงจาก 96% ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ระดับ 88% ในช่วงดังกล่าว และทยอยกลับเข้าลงทุนในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปัจจุบันได้เพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารกองทุนมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพที่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ได้แก่ กองทุน Natixis Harris Global Value ใน Global Equity กองทุน iShares MSCI USA Value Factor และกองทุน Neuberger Berman US Large Cap Value ในสหรัฐฯ และเริ่มเพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ด้วยการเพิ่มการลงทุนในกองทุน Pimco Global Bond และกองทุน Wellington Global Bonds เนื่องจากเริ่มมองว่าแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อเริ่มชะลอลงในระยะถัดไป

นายบดินทร์ พุทธอินทร์  ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย)  กล่าวว่า
สำหรับผู้ที่สนใจหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ  กองทุนเปิดทหารไทย US Blue Chip Equity อาจจะเป็นหนึ่งคำตอบให้กับนักลงทุนได้เช่นกัน แม้ช่วงที่ผ่านมาจะเผชิญแรงกดดันแต่หากย้อนกลับไป 5-10 ปี จะเห็นว่าประสิทธิภาพของกองทุนนี้เมื่อเทียบกับตลาดโดยรวมนั้นดีกว่าเป็นส่วนใหญ่ และหากมองกระบวนการลงทุนรวมถึงกระบวนการที่ใช้ในการถ่ายหุ้นออกจากพอร์ตเองก็ถือว่าเป็นความตั้งใจที่จะให้เป็นกองทุนที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว

นายณัฏฐะ มหัทธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ตลาดอาเซียนยังคงโดดเด่นจากอานิสงส์ภาพรวมจากการเปิดประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ส่วนกองทุนใดที่น่าจะตอบโจทย์การลงทุนในอาเซียน คำตอบคือ KT-ASEAN-A เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเป็นการลงทุนใน 5 +1 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยมองว่าเป็น Heavy Overweight ที่มาตรฐานสูงและน่าจับตาในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนอย่างมากทีเดียว

ดร. จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ครึ่งปีหลังมีทั้งโอกาสและความท้าทายในการลงทุนหุ้นจีน อาจจะไม่ใช่ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม หรือทั่วประเทศจีนที่น่าลงทุน สำหรับบลจ.ยูโอบี มองว่าหุ้นจีน A-share น่าสนใจที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนในจีนอื่น ๆ แม้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นหุ้นจีนผ่านจุดต่ำสุดและฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่ถ้ามองไประยะยาว เชื่อว่าการเติบโตจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องอีกและยังลงทุนทัน สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือการบริหารจัดการความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างในตอนนี้ หรือจะเป็นนโยบาย Common prosperity ที่อาจกดดันกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่อีกในอนาคต ดังนั้นจึงต้องมีผู้จัดการการลงทุนที่เข้าใจหุ้นจีนอย่างแท้จริงคอยช่วย สำหรับกองทุน UCI บริหารโดยผิงอัน (PINGAN) ซึ่งเป็นบลจ.ในจีนเป็นผู้บริหารกองทุนหลัก เชื่อว่านอกจากจะหาโอกาสเติบโตในหุ้นจีนได้แล้ว UCI จะเป็นกองทุนที่ลงทุนได้อย่างสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างดีด้วย

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp