“โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่” ของซีพีเอฟ แบ่งปันทักษะอาชีพให้น้องๆ รร.CONNEXT ED

297
มิติหุ้น –  เป้าหมายของการดึงศักยภาพของเด็กไทย สู่การเป็น “เด็กดีและเด็กเก่ง”  เป็นพันธกิจหลักของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED)  องค์กรที่มีบทบาทและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาไทยสู่มาตรฐานสากล  สร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ     พันธมิตรที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ นำ 5 โมเดลร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ในปี 2565 ตามความต้องการและบริบทของโรงเรียน ประกอบด้วย โครงการอัจฉริยะยุวเกษตร โครงการฟาร์มไก่พันธุ์ไข่อัจฉริยะ โครงการร้านกาแฟเด็กน้อย โครงการ Proactive teacher for active learning และ โครงการ นัก Coding น้อย
วันนี้  …พาไปเยี่ยมชมโรงเรียนวัดหนองขุนปราบ  จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียน 103 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล – ประถมศึกษาปีที่  6  โดยโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากซีพีเอฟ  ทำโครงการโรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธุ์ไข่ เมื่อปี 2563  ปัจจุบัน เลี้ยงไก่ไข่รุ่นแรก จำนวน  100 ตัว  ปูพื้นฐานการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ  ปลูกฝังให้ตระหนักในคุณค่าของอาชีพ  สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่อย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมผู้เรียนมีความรู้ในขั้นตอนและกระบวนการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่  สามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคต  ซึ่งคุณครูมอบหมายให้น้องๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่  4 ดูแลโครงการ ฯ โดยมีพี่ๆ ชั้น ป.5 และ ป.6 เป็นพี่เลี้่ยง
“นายสนั่น  ประสงใด” ครูชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองขุนปราบ กล่าวว่า โรงเรียนฯ และผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner : SP)  ของซีพีเอฟ ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน โดยตระหนักถึงภาวะทุพโภชนาการ และการส่งเสริมโภชนาการที่ดีของนักเรียน  นอกจากนี้  ยังได้บูรณาการโครงการดังกล่าวเข้ากับการเรียนการสอนวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ การงานพื้นฐานอาชีพ  เพื่อสร้างความสนใจของนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ากิจกรรมการเรียนการสอนนอกห้องเรียนจากการทำโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ช่วยให้นักเรียนมีความใส่ใจการเรียนมากขึ้น    และบ่มเพาะความเป็นจิตสาธารณะให้กับเด็กนักเรียน เนื่องจากต้องจัดเวรรับผิดชอบ ให้อาหารไก่  ดูแลน้ำ ทำความสะอาดโรงเรือน และเก็บไข่ไก่ทุกวัน  รวมทั้งในวันเสาร์และอาทิตย์ ที่น้องๆอาสามาดูแลไก่ที่โรงเรียน แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม
“โรงเรียนทำโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่  โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติจริง  ด้วยการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามความถนัดและความสมัครใจ โดยเด็กๆได้เรียนรู้การวางแผนการเลี้ยง ตั้งแต่การให้อาหาร ดูแลเรื่องน้ำ ทำความสะอาดโรงเรือน การวางแผนบริหารจัดการด้านการตลาด ทั้งการนำผลผลิตไข่ไก่ส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน จำหน่ายให้กับชุมชนในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด  โดยตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ให้ชุมชนแล้วเกือบ 50,000 บาท ซึ่งจะนำรายได้ไปต่อยอดการเลี้ยงไก่ในรุ่นที่สองต่อไป  รวมไปถึงต่อยอดการเรียนรู้ด้วยการนำผลผลิตไข่ไก่ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ขนมดอกจอก โดยเชิญคนในชุมชนมาสอนวิธีการทำขนมให้   “รักษาการ ผอ.โรงเรียน กล่าว
ด.ญ.ณัฏฐณิชา ไกรจันทร์ น้องอุ้ม ด.ช. ทศพร ชนิดกุล น้องเก่ง  นักเรียนชั้น ป.5  และ ด.ช. เจษฎา ชินนอก น้องคิว  ด.ช.ยิ่งคุณ บุญศักโสธร น้องอชิ นักเรียนชั้นป.6  พาชมโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียน  ซึ่ง น้องคิว บอกว่า  พวกเราได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ขอขอบคุณบริษัทซีพีเอฟที่มอบโอกาสดีๆให้พวกเราครับ ส่วนน้องเก่ง ขอบคุณซีพีเอฟและโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ที่สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ทำให้นักเรียนมีผลผลิตไข่ไก่มาเป็นอาหารกลางวัน เมนูต่างๆ   เช่น พะโล้ บัวลอยไข่หวาน  ขณะที่ น้องอุ้ม เล่าขณะที่พาชมโรงเรือนฯว่า โครงการนี้ทำให้พวกเรามีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ที่ถูกต้อง ตั้งแต่การให้อาหาร การเลี้ยง  ทำความสะอาดโรงเรือน  การบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย  ฝีกการคิดคำนวณจากการทำบัญชี  มีความรับผิดชอบ รู้จักการทำงานร่วมกัน และปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ
ด้านนายศักดิธัช นิลพฤกษ์ หรือ นิว  ทำหน้าที่ SP โครงการ CONNEXT ED ของซีพีเอฟ  มาตั้งแต่ปี 2561   กล่าวว่า โครงการ “โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธฺุ์ไข่”  เป็นโมเดลที่โรงเรียนอื่น ๆ ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้  เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของนักเรียนจากประสบการณ์จริง  สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบโรงเรียน ที่สำคัญ คือ ความยั่งยืนของโครงการ
โครงการ “โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธฺุ์ไข่” ยังเป็นโมเดลที่ซีพีเอฟ ใช้เป็น Best Practices ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และถอดบทเรียน เพื่อขยายผลการนำไปใช้กับโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ.  โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ทำงานร่วมกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี  ซึ่งในระยะต่อไปมีแนวทางส่งเสริมให้โรงเรียนที่ทำโครงการ”โรงเรือนจำลองฟาร์มไก่พันธฺุ์ไข่” นำระบบอัตโนมัติมาใช้  อาทิ ระบบให้อาหารไก่    สปริงเกอร์บนหลังคาพ่นละอองน้ำ (Springer) เพื่อช่วยลดความร้อนในโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่  เป็นต้น
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ รับผิดชอบดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED  รวม  301 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่  4 จังหวัด คือ นครราชสีมา  บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสระบุรี  โดยได้ร่วมสนับสนุนโครงการต่างๆ ไปแล้วรวม 235 โครงการ  มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน   สอดรับตามวิสัยทัศน์ของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ยกระดับการจัดการการศึกษาไทย

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp