วว. ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนเอเปค พัฒนาการวิเคราะห์/ทดสอบอินเทอร์เน็ตออฟติงส์

69

มิติหุ้น  –  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับอนุมัติในการยื่นข้อเสนอโครงการและรับทุนสนับสนุนจากโครงการ APEC Project Fund ให้ดำเนินการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ ทดสอบผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things : IoT)   นับเป็นความสำเร็จของ วว. และประเทศไทย  ที่จะสร้างงานบริการวิเคราะห์ทดสอบใหม่ ซึ่งสอดคล้อง เป็นที่ยอมรับ ตามมาตรฐานระดับสากล ตอบโจทย์ความร่วมมือ เพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืนพร้อมกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา จัดทำโครงการ Capacity building Workshop on Testing Methods for Internet Of Things (IoT) Products หรือ โครงการพัฒนาศักยภาพวิธีการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (IoT)   โดยมี ดร.ประเวช  กล้วยป่า ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการมาตรฐานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. เป็นเจ้าของข้อเสนอโครงการ หรือ Project Oversee (PO) ซึ่งได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการยื่นข้อเสนอโครงการผ่านคณะทำงาน APEC Sub-Committee on Standards and Conformance (SCSC) เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และข้อเสนอโครงการฯ ผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติวงเงินจากกองทุนโครงการ APEC เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565

“… ข้อเสนอโครงการของ วว. ได้รับการตอบรับอย่างดีจากหลากหลายสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และจีนไทเป  โดยจะดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพ เรียนรู้ความเชี่ยวชาญจากเขตเศรษฐกิจที่เป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ IoT รวมถึงการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบร่วมกัน ผ่านกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและ Round Robin Test ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ  การได้รับทุนสนับสนุนจาก APEC ในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของ วว. และประเทศไทย  ที่จะได้ดำเนินงานอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานบริการทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ในประเทศไทย ให้ตอบโจทย์และรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร. ประเวช  กล้วยป่า  ผอ.ห้องปฏิบัติการมาตรฐานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันความต้องการและปริมาณการใช้งานผลิตภัณฑ์ IoT มีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญและเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนสภาวการณ์สู่ New Normal  อย่างไรก็ดี กระบวนการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางอินเตอร์เน็ตยังมีความแตกต่างและความหลากหลายของมาตรฐาน  นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัด ศักยภาพการทดสอบ กระบวนการทดสอบ และบริบทของแต่ละพื้นที่  ดังนั้นโครงการพัฒนาศักยภาพวิธีการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (IoT) จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็น การเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพทั้งบุคลากรและหน่วยงานผู้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ สร้างงานบริการทดสอบที่สอดคล้องเป็นที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานระดับสากล ตอบโจทย์ความร่วมมือและการก้าวไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนพร้อมกันในภูมิภาค

อนึ่ง Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC คือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนระหว่างสมาชิก ยึดหลักความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันภายใน APEC ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคณะทำงานเฉพาะทางในสาขาต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเด็นสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ดังเช่นคณะทำงาน APEC Sub-Committee on Standards and Conformance (SCSC) โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ประสานงานของไทยในกลุ่มงานดังกล่าว  ทั้งนี้ โครงการภายใต้ APEC มีความสำคัญและเป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือและการพัฒนาของภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp