มิติหุ้น – นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคม สถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานด้านการให้ความช่วยเหลือลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารออมสิน 3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 5.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และ 6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งยังคงมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระทางด้านการเงินเพิ่มสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยมีจำนวนของลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วถึง 6,887,638 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1,352,588 ล้านบาท แบ่งเป็นรายละเอียดตามโครงการความช่วยเหลือ ดังนี้
- โครงการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ มีจำนวนสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 44,466 ล้านบาท 17,147 ราย เฉลี่ยอนุมัติสินเชื่อต่อรายอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท
- โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมเงิน และให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจเมื่อมีศักยภาพในอนาคต โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 3,441 ล้านบาท
53 บัญชี - โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 958,025 ล้านบาท 2,250,854 บัญชี
- โครงการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 346,656 ล้านบาท 4,590,483 ราย แบ่งเป็น สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ 280,805 ล้านบาท 89,334 ราย และสินเชื่อสำหรับรายย่อย 65,851 ล้านบาท 4,501,149 ราย
- โครงการความช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านทางด่วนแก้หนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 29,101 ราย สามารถให้ความช่วยเหลือแก้ไขหนี้ได้สำเร็จถึง 81.84%
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ยืนยันว่าพร้อมพิจารณาตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำให้นานที่สุด หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อบริหารต้นทุนการดำเนินงาน ก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้น้อยที่สุดเพื่อลดผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ พร้อมกับให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบการที่อาจยังคงได้รับผลกระทบทางรายได้ และยังไม่สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ความเสี่ยง และมีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจมีความไม่แน่นอน จนกว่าจะกลับมามีความเข้มแข็ง ทางรายได้และผ่อนชำระได้ตามปกติต่อไป
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp