มิติหุ้น- CIG ลุยตั้งบริษัทย่อยเข้าถือหุ้น อิมแพ็ค กรีน ยูทิลิตี้ โฮ หรือ IGU ตั้งธงเป็นโฮลดิ้งเข้าลงทุนธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อการเติบโตระยะยาว กางแผนลงทุนรอบด้านทั้งพลังงาน สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ขยายโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เล็งระดมเงินลงทุนกว่า 7 พันล้านบาทจากการออกหุ้นกู้ และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ย้ำยังเดินหน้าต่อในธุรกิจหลัก แต่ขยับไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องสร้างโอกาสและเพิ่มรายได้
นายอารีย์ พุ่มเสนาะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี. ไอ. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) “CIG” ผู้ผลิตคอยล์ อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนสำหรับระบบปรับอากาศและทำความเย็น ให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทำการหารือถึงการปรับโครงสร้างกิจการฯ และแผนธุรกิจที่จะสามารถสร้างโอกาสระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องทำความเย็น จึงมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อย บริษัท ซีไอจี ยูทิลิตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัดเพื่อเข้าซื้อหุ้น บริษัท อิมแพ็ค กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด “IGU” จาก นายสุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์ จำนวน 9,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือ 22.68% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วของ IGU ในราคาหุ้นละ 25 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 225,000,000 บาท เพื่อประกอบธุรกิจการถือหุ้นกิจการอื่น (Holding Company) ในการพัฒนาธุรกิจ (Business Development), เข้าลงทุนในโครงการ (Investment) รวมถึงเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค (Utilities) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สนับสนุน Ecosystem ของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยการเข้าซื้อหุ้น IGU ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการต่อยอดธุรกิจปัจจุบัน ด้วยแผนร่วมมือกับพันธมิตร Start Up ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะพันธมิตรจากประเทศจีน เพื่อลงทุนธุรกิจบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Management) แบบครบวงจรทั้งในรูปแบบ B2B และ B2C ควบคู่กับการเพิ่มโอกาสการเติบโตด้วยธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการและนโยบายทั่วโลก เช่น ธุรกิจพลังงาน ทั้งพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน, โครงการยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนรถขนส่งรถบรรทุกและรถกระบะเป็น EV ให้ได้ 10% ภายในระยะไม่เกิน 2 ปี รวมถึงโครงการพัฒนาและก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสําหรับธุรกิจสีเขียวเพื่อลดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในแผนงานยังมีโครงการอื่นๆ และโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับบริษัทในอนาคต
สำหรับการลงทุนในธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมา ทางบริษัทภายใต้การสนับสนุนของพันธมิตรร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศประเมินว่าจะเริ่มระดมเงินทุนมูลค่าประมาณ 7,729.58 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อหุ้น IGU จำนวน 225 ล้านบาท การซื้อกิจการอื่นๆ ใน Ecosystem กว่า 1,500 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนสําหรับโครงการ EPC+F โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Zero Carbon Sustainable Industrial Estate ร่วมกับพันธมิตรจากประเทศจีนและในภูมิภาคเอเชีย ประมาณ 5,800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 160 -200 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ขณะที่บริษัทมีแนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนจากหลายแนวทาง ได้แก่ 1. การออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) 864.79 ล้านบาท ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 1,729,577,364 หุ้น ราคาเสนอขายหุ้นละ 0.50 บาท ในอัตราส่วนหุ้นสามัญเดิม 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นสามัญใหม่ 2. การออกหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนไม่เกิน 864,788 หน่วย โดยกำหนดอัตราส่วนการแปลงสภาพ 1 หน่วยหุ้นกู้แปลงสภาพสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ 1,000 หุ้น ราคาใช้สิทธิแปลงสภาพ 1.00 บาทต่อหุ้น รวมถึงเงินทุนจากการออกหุ้นกู้จำนวน 6,000 ล้านบาท ซึ่งต้องนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2565 เพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้พิจารณาหาแหล่งเงินลงทุนอื่นๆ อาทิ เงินทุนจากการขายหุ้นของบริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม, การร่วมทุนของพันธมิตร และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำมาขับเคลื่อนธุรกิจให้ได้ตามแผนที่วางไว้
“การปรับแผนธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อบริษัททั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งแม้ว่าจะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่หากมองแต่ละธุรกิจจะเห็นถึงแนวโน้มที่จะสามารถขยายการเติบโตและสร้างโอกาสรับผลตอบแทนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจหลัก ควบคู่ไปกับการปรับสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาส รวมถึงเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทด้วยการเข้าสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนธุรกิจพลังงานที่สามารถขับเคลื่อนให้บริษัทสร้างรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ เชื่อว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของ IGU อย่างกลุ่มของนายสุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์ รองประธานกรรมการ PRIME ที่พัฒนาโครงการพลังงานทดแทน อีกทั้งยังมีบริษัทในเครือที่เป็นปรึกษาให้กับโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ รวมถึงกิจการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโครงการทั้งในและต่างประเทศ และมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก จะสนับสนุนและช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถดำเนินงานตามแผนงาน และมีการเติบโตและพัฒนาต่อไปในอนาคต และเตรียมจับตามองการแถลงข่าวใหญ่ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในโครงการต่างๆ ของ CIG ร่วมกับ IGU ภายในเดือนสิงหาคม 2565 นี้เป็นต้นไป” นายอารีย์ กล่าว
@mitihoonwealth