มิติหุ้น – นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจแม็คโคร เปิดเผยว่า ไตรมาสสองของปี 2565 กลุ่มธุรกิจแม็คโคร ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ทำให้กลุ่มค้าส่งแม็คโครเติบโตได้จากธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมที่กลับมาฟื้นตัว ประกอบกับการเติบโตของยอดขายจากทั้งสาขาเดิม และการเปิดสาขาใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะแม็คโคร กัมพูชา ที่มีผลประกอบการเป็นบวกมาหลายไตรมาส รวมถึงธุรกิจฟูดเซอร์วิสที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มค้าปลีกโลตัส กลับมาเติบโตจากการที่สามารถเปิดให้บริการศูนย์การค้าได้ตามปกติ การรีแบรนด์สาขา การพัฒนาสินค้าอาหารสด รวมทั้งการเปิดตัวแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายออนไลน์ ‘โลตัส สมาร์ท แอปพลิเคชั่น’ ทำให้บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาสสอง 118,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.6 % และมีกำไรสุทธิ 1,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2 % จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ครึ่งปีแรกมีรายได้รวมทั้งสิ้น 229,680 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,623 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
สำหรับยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ประกอบด้วย
- ยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำอาหารสด ที่มีจุดแข็งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้าทั่วไป ด้วยสินค้าที่หลากหลาย ในราคาที่คุ้มค่า โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ‘โลตัส’ มีการพัฒนาสินค้าอาหารสดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มียอดขายสินค้าประเภทอาหารสดในไตรมาสสองเติบโตถึง 14%
- ยุทธศาสตร์ O2O ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าทุกกลุ่ม การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จะเห็นได้จากที่แพลตฟอร์ม แม็คโครคลิก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่ผ่านมา แม็คโครยังได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘maknet’ B2B Marketplace ด้านโลตัส ได้สร้าง Online Grocery แพลตฟอร์ม หรือบริการสั่งซื้อของสดออนไลน์ ซึ่งการเติบโตของช่องทาง O2O เป็นสัญญาณบวก เพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขาย ดังเห็นได้จากยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของโลตัสประเทศไทย ที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- ยุทธศาสตร์ความยั่งยืน กับการส่งเสริม SME และเกษตรกรรายย่อย ด้วยแพลตฟอร์มแห่งโอกาส จากการสนับสนุนช่องทางการขายให้กับเกษตรกรรายย่อยและ SME ทำให้แม็คโครและโลตัสมีสินค้าอาหารสดที่มีความหลากหลาย คุณภาพดี จากผู้ผลิตกว่า 10,000 ราย สามารถกระจายสินค้าจากเกษตรกรไทยสู่ผู้บริโภคผ่านช่องทางสาขาที่มีเกือบ 3,000 แห่งทั่วประเทศ
“นอกจากการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้ง B2B และ B2C แล้ว เราจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้อย่างต่อเนื่อง ในการเติบโตมุ่งสู่การเป็นผู้นำค้าส่งค้าปลีกของภูมิภาค พร้อมกันนี้เราจะใช้ศักยภาพเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ให้ทั้ง SME และเกษตรกรรายย่อยเติบโตไปด้วยกัน” นายธานินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวอยู่ที่ราว 11% คิดเป็นมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค การเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคเกษตร และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ภาพรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโต และเข้าสู่การฟื้นตัวเต็มรูปแบบ
@mitihoonwealth