มิติหุ้น – นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) เปิดเผยว่า จากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 0.25% ต่อปี จาก 0.50% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เล็งเห็นว่าในภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสถาบันการเงินอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดูแลลูกค้า ทั้งในส่วนลูกค้ารายย่อย ภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ส่งออก ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวให้น้อยที่สุด โดยสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินสมาชิก พร้อมดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดแนวทางการดูแลของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดังต่อไปนี้
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2565 และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามความเหมาะสมกับสภาวะตลาดเพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับธนาคารในการนำเงินไปปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการมีบ้านได้ต่อไป
ธนาคารออมสิน จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน/6 เดือน ปรับขึ้น 0.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.20% และเงินฝากประจำ 24 เดือน/36 เดือน ปรับขึ้น 0.30% เพื่อช่วยส่งเสริมการออม และให้ประชาชนได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่กำลังเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR, MOR และ MRR) ไว้ให้นานที่สุดเพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการ SME และกลุ่มเปราะบาง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อภาคการเกษตร และกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันการเกษตร ผู้ประกอบการ และชุมชน โดยการดูแลภาระหนี้สิน เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้การจัดทำคลินิกหมอหนี้ เพื่อลดหนี้ครัวเรือน รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ ทั้งหนี้ในและนอกระบบ การเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน และการพัฒนาศักยภาพในการปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต นอกจากนั้นยังมุ่งเน้นสนับสนุนแนวทางการประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และชุมชน
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด ในอัตรา Prime Rate 5.75% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้าและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งพัฒนาโปรโมชั่นพิเศษสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า Prime Rate อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEsให้อยู่รอดและขยายธุรกิจในตลาดการค้าโลกได้ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจของผู้ประกอบการในปีนี้
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยก่อนหน้านี้ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบไม่มาก ขณะเดียวกันยังมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ เสริมสภาพคล่องและบริหารจัดต้นทุนทางการเงิน เช่น “สินเชื่อ 3D” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ และ “สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (BCG Loan) อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.99% ต่อปี เป็นต้น เพื่อช่วยประคับประคองให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จะคงอัตรากำไรสินเชื่อให้นานที่สุดถึงสิ้นปี เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับลูกค้า สำหรับผลตอบแทนเงินฝาก จะจัดสรรตามส่วนแบ่งกำไรตามเงื่อนไข โดยธนาคารจะพิจารณาผลตอบแทนในตลาดที่เปลี่ยนแปลงมาประกอบในการพิจารณา ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างเต็มที่ ในฐานะผู้ค้ำประกันสินเชื่อ โดยยืน 3 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ SMEs คือ 1.ลดต้นทุนฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างชาติ หรือ PGS 9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2-3 ปีแรก และระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อนานถึง 10 ปี รวมถึง โครงการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan Extra 2.ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ฟรี ผ่าน บสย.F.A.Center และ 3. ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ ภายใต้มาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” ภายใต้แนวคิด “แก้หนี้ยั่งยืน” เพื่อรองรับการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ เน้นความยืดหยุ่นและผ่อนเบา” ทั้งนี้ ลูกค้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการเงินของรัฐทุกสาขา และผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ อาทิ Call Center Line@ Facebook Website และ Mobile Application
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp