มิติหุ้น – นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เปิดเผยถึง ทิศทางธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มเติบโตกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ส่งผลให้มีปริมาณออเดอร์ทั้งในประเทศและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้ง บริษัทมุ่งเน้นขยายตลาดในประเทศซึ่งตลอดช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี สำหรับตลาดต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าจากอินเดีย และตะวันออกกลาง รวมถึงปัจจัยจากการพัฒนาสินค้าใหม่ร่วมกันกับลูกค้าซึ่งเริ่มกลับมาจัดการได้อีกครั้งภายหลังสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลายซึ่งจะช่วยให้ออเดอร์สินค้าใหม่เริ่มเข้าตั้งแต่ไตรมาสสี่เป็นต้นไป ประกอบกับไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่คือช่วงไฮซีซั่นของฤดูกาลขาย ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ตามเป้าหมายที่ 10 – 12% สำหรับปีนี้
สำหรับปีหน้าบริษัทมีแผนกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางจำหน่ายใหม่ ได้แก่ แพลทฟอร์มออนไลน์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการจำหน่ายผ่านช่องทางดังกล่าวได้ในภายในปีหน้า ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในประเทศ รวมถึงสร้างความหลากหลายของช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัท
ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ส่งออก 55 % และจำหน่ายภายในประเทศ 45 % ของรายได้จากการขายทั้งหมด
ด้านธุรกิจพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 220 MW เมืองมินบู ประเทศเมียนมาร์ ที่ปัจจุบันรับรู้รายได้เฟสที่ 1 จำนวน 50 MW แล้ว สำหรับเฟส 2 3 และ 4 ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องแม้จะมีสัญญาณความล่าช้าเกิดขึ้นบ้างจากสถานการณ์ COVID-19 และการเมืองภายในเมียนมาร์ โดยคาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นครบทั้งสี่เฟสภายในปี 2566
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2565 บริษัทมีรายได้รวม 772.82 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 813.89 ล้านบาท จำนวน 41.06 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.05 % และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหม่ 22.09 ล้านบาท
ขณะที่ ผลประกอบการไตรมาส 2/65 บริษัทมีรายได้รวม 352.26 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 400.07 ล้านบาท จำนวน 47.82 ล้านบาท หรือ 11.95% และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัท 9.83 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 15.77 ล้านบาท จำนวน 5.94 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุกำไรที่ลดลงมาจากยอดส่งออกที่ลดลงในช่วงไตรมาส 2 เนื่องมาจากฤดูกาลขายของลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นที่ชะลอการสั่งซื้อในไตรมาสที่ 2 สถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่มีปัจจัยบวกในขณะนี้ โดยปกติแล้วรายได้จากการขายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของทุกปีจะเป็นช่วงที่มียอดขายต่ำสุด ซึ่งหากพิจารณาในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการขายเท่ากับ 277 ลบ. และ 375 ลบ. ตามลำดับ ซึ่งหากเปรียบเทียบแนวโน้มจากปี 2563 นับว่าบริษัทยังสามารถสร้างรายได้จากการขายเติบโตได้ภายใต้ปัจจุบันที่มีทั้งภาวะสถานการณ์สงคราม เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และโรคระบาด Covid-19 ในขณะนี้
ภาพรวมของผลประกอบการ ในส่วนของกำไร ไตรมาส 2 และช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2565 ในส่วนของงบการเงินรวม ที่ผ่านมา การบริหารจัดการต้นทุนขายที่ลดลงส่งผลให้บริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นต่อรายได้ขาย อัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้รวม และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานบวกกลับค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ต่อรายได้รวม ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในทุกอัตราส่วน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากรายได้จากการส่งออกที่ลดลง และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีกำไรสำหรับงวดส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
@mitihoonwealth