สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 8 – 12 ส.ค. 65 และแนวโน้ม 15 – 19 ส.ค. 65

85

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดผันผวน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ จากความวิตกต่ออุปทานน้ำมันผ่านท่อขนส่ง Southern Druzhba ในยุโรปอาจตึงตัว หลังจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาทางเทคนิคในการผลิตน้ำมันบริเวณอ่าวเม็กชิโกของสหรัฐฯ หลังท่อฯ รั่วไหล ประกอบกับ IEA ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2565 อย่างไรก็ตามปลายสัปดาห์ ราคาน้ำมันลดลง หลังท่อ Southern Druzhba กลับมาดำเนินการ และสามารถซ่อมแซมท่อในสหรัฐฯ

ติดตามความคืบหน้าหลังการเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ณ กรุง Vienna ในออสเตรีย เสร็จสิ้น เมื่อ 8 ส.ค. 65 และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประสานงานจัดทำร่างข้อตกลงให้ผู้นำทั้งสองประเทศพิจารณาตัดสินใจ หากบรรลุข้อตกลงจะทำให้อิหร่านหลุดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ Commonwealth Bank คาดว่าอิหร่านจะสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 6 เดือน อนึ่งนักวิเคราะห์ Energy Aspects รายงานอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบในปี 64 อยู่ที่ระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ยูเครนระงับการขนส่งน้ำมันรัสเซียสู่ยุโรป ผ่านท่อ Southern Druzhba (250,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 4 ส.ค. 65 บริษัท Ukrtransnafta ผู้ประกอบการท่อฯ ของยูเครนไม่รับค่าธรรมเนียมการขนส่งจากรัสเซีย โดยบริษัท Transneft บริษัทท่อฯ ของรัสเซียชี้แจงเมื่อ 9 ส.ค. 65 ว่ายูเครนปฏิเสธการรับเงิน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก กระทบต่อสโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก และฮังการี
  • 11 ส.ค. 65บริษัท Shell แถลงหยุดการผลิตที่แท่นขุดเจาะน้ำลึกในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ จำนวน 3 แท่น ได้แก่ Mars, Ursa, และ Olympus ผลิตน้ำมันดิบรวม 410,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่อขนส่งบนบกที่เชื่อมต่อในรัฐ Louisiana รั่วไหล ประมาณ 2 บาร์เรล
  • IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 99.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 38,000 บาร์เรลต่อวัน) และในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 101.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน)
  • หน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 79 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Bloomberg รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียสู่ยุโรปทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ส.ค. 65 เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 1.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ช่วงก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบสู่ยุโรปทางทะเลอยู่ที่ระดับ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Kpler รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ ธ.ค. 62

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp