มิติหุ้น – ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก “พายุมู่หลาน” ที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และเกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกด้วย “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2565” 7 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ลดเงินงวด 50% จากเงินงวดปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน 2.ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก 3.ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 6 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด
4.ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก ผ่อนเงินงวดเพียง 1,000 บาท 5.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6.ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7.พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จ่ายตามความเสียหายจริงรวมทุกภัยธรรมชาติสูงสุด 30,000 บาทต่อปี
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับ “พายุมู่หลาน” ที่ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และเกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สร้างผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชน ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจัดทำ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ ปี 2565” (กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่อยู่ระหว่างการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว(MRR -0.50%, MRR -1.00% หรือ MRR เป็นต้น) กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติสามารถขอลดเงินงวด 50% จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้ากู้ใหม่ หรือลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกันคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR –3.15% ต่อปี(ปัจจุบันเท่ากับ 3% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1% ต่อปี
กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง
มาตรการที่ 3 ลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 7-18 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 4 ลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก และผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) จากนั้นเดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน บวกอีก 100 บาท และเมื่อผ่อนชำระครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 5 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 6 ลูกค้าสถานะบัญชีปกติและสถานะ NPL หากที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น (พิจารณาเป็นรายกรณี)
มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์ เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่30 กันยายน 2565 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และเว็บไซต์ www.ghbank.co.th
@mitihoonwealth