มิติหุ้น – นายภาณุวัตร เนียมเปรม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง นำพนักงานซีพีเอฟ จำนวน 250 คน ทำกิจกรรมปลูกพืชอาหารสัตว์และทำโป่งเทียม ในพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายณรงค์ วัสสละ ปลัดอำเภอพัฒนานิคม นายสุรพล กลิ่นพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) ร่วมกิจกรรมด้วย
นายภาณุวัตร กล่าวว่า บริษัทฯ และจิตอาสาซีพีเอฟ ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าเขาพระยาเดินธงจากป่าเสื่อมโทรมสู่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเรียนรู้การฟื้นฟูป่า โดยตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 7 ได้อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไปแล้ว 6,971 ไร่ เพื่อส่งมอบผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ประเทศไทย ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติแหล่งต้นน้ำและสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
“กิจกรรมในวันนี้ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชนที่อยู่รอบเขาพระยาเดินธง ภาคราชการ กรมป่าไม้ ส่วนปกครอง และพนักงานซีพีเอฟที่มาจากหลายธุรกิจและหลายจังหวัดที่เราประกอบกิจการอยู่ ประมาณ 250 คน เพื่อมาปลูกต้นไม้สำหรับเป็นแหล่งอาหารของสัตว์และทำโป่งเทียม สิ่งที่เราร่วมกันทำในวันนี้ ทำให้สัตว์ป่ามีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นการเติมเต็มระบบนิเวศ ซึ่งนอกเหนือจากความประทับใจที่พวกเราชาวซีพีเอฟได้รับแล้ว ยังได้ทำความดีเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน และคืนผืนป่าที่สมบูรณ์ให้แก่ประเทศด้วย” นายภาณุวัตร กล่าว
ด้าน นายณรงค์ วัสสละ ปลัดอำเภอพัฒนานิคม กล่าวว่า ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของคนในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง การที่ภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟเข้ามาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า เป็นการช่วยเติมความอุดมสมบูรณ์ของป่าและรักษาระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันชุมชนรอบพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมปลูกพืชอาหารสัตว์และทำโป่งเทียมในครั้งนี้ มีการปลูกต้นไม้ 24 ชนิด จำนวน 450 ต้น อาทิ ต้นสมอพิเภก ต้นเขยตาย ต้นตาเสือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีความเหมาะสมในการเจริญเติบโตได้ดี และสามารถออกผลเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ รวมทั้งทำโป่งเทียม ด้วยการขุดดินบริเวณที่ลาดชันให้เป็นแอ่ง จากนั้นนำแร่ธาตุต่างๆ อาทิ แคลเซียม โพแทสเซียม เกลือสมุทร ลงไปผสมกับดินบริเวณที่ขุด เมื่อมีฝนตกหรือความชื้น ดินบริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นของกลุ่มสัตว์กินพืชและสัตว์กีบ นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศในเขาพระยาเดินธงให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยได้รับความรู้และคำแนะนำในการทำโป่งเทียมจากดร.ขรรค์ชัย ประสานัย อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโครงการฯ
ทั้งนี้ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลักของซีพีเอฟด้าน “ดิน น้ำ ป่า คงอยู่” เพื่อร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)
@mitihoonwealth