ttb analytics ชี้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป เติบโตก้าวกระโดด

494

มิติหุ้น  –  ภายหลังจากมติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพิ่มขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2565  ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า อัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 5 บาทต่อหน่วย โดยสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แนะผู้ประกอบการหันมาทำธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs  หลังค่าไฟยังมีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่องและระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้น ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2568

ไทยต้องพึ่งแหล่งพลังงานจากต่างชาติทดแทนกำลังการผลิตในประเทศที่ลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและเมียนมามีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของไทยทั้งหมดมาจากหลายแหล่ง (Electricity Mix) ซึ่ง 56.2% มาจากก๊าซธรรมชาติ (ส่วนใหญ่มาจากอ่าวไทยและเมียนมา) และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนอีกราว 43.8% มาจากพลังงานรูปแบบอื่น ๆ (พลังงานหมุนเวียนและนำเข้าจากต่างประเทศ) อย่างไรก็ดี ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกที่ผลิตจากอ่าวไทยกลับทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องและลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 70% ในปี 2560 ลดลงเป็น 60% ในปี 2565 และมีแนวโน้มลดลงเหลือต่ำกว่า 40% ในปี 2575 ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.7% ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มเติมจากที่มีในสัญญาเพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานในประเทศ ทำให้อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

นอกจากนี้ ราคาอ้างอิงก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีความผันผวนสูงและอ่อนไหวต่อสถานการณ์โลก เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดราคาก๊าซธรรมชาติ (Dutch TTF) ในตลาดยุโรปปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 280 ยูโรต่อเมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 350% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 อีกทั้งอัตราค่าเงินบาทที่ผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติอ้างอิงสูงขึ้นมาก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบัน เอกชนหลายรายจะมีใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ  แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวที่ต่ำกว่าโควตาจากต้นทุนการจัดเก็บก๊าซธรรมชาติที่ค่อนข้างสูง

เศรษฐกิจฟื้น-ยกเลิกมาตรการช่วยเหลือ ดันค่าไฟฟ้าปี 2566 แตะ 5 บาทต่อหน่วยภายหลังจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภาครัฐจึงเริ่มถอนคันเร่งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ซึ่งก็รวมถึงการทยอยปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ส่งผลให้นับตั้งแต่ต้นปี 2565 อัตราค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและปรับเพิ่มที่ระดับ 3.79 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม  ล่าสุดจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม และมีความเป็นไปได้สูงที่ค่าไฟฟ้าจะแตะที่ 5 บาทต่อหน่วยในปี 2566 ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2564

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องราคาค่าไฟที่ปรับขึ้นแล้ว ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะกระแสการทำงานแบบไฮบริด (Hybrid) หรือ รูปแบบการทำงานในออฟฟิศสลับ

กับ Work From Home หรือ จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยทำให้ต้องใช้ชีวิตที่บ้านพักอาศัยในแต่ละวันมากกว่าที่ผ่านมา

คนไทยสนใจติดโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มขึ้น 4 เท่า หลังค่าไฟฟ้าแพง หนุนคืนทุนเร็วขึ้นแน่นอนว่า หากประชาชนต้องการควบคุมค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน หรือ เลือกใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)  เช่น “พลังงานแสงอาทิตย์” ก็อาจตอบโจทย์สำหรับการลงทุนในยุคค่าไฟขาขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่น เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กลับเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในภาคประชาชน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศและเสียงที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนรอบข้าง ตลอดจนระยะเวลาการติดตั้งเพียง 2-3 วันเท่านั้น (สำหรับการติดตั้ง 5 kWh) ส่งผลให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้เกิดพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของอาคาร (Solar Rooftop) มากขึ้น สะท้อนจากคำค้นหาเกี่ยวกับ “ติดตั้งโซลาร์เซลล์” ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 นี้ ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564

ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 22% นับตั้งแต่ปี 2565-2568 หรือแตะที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท จากค่าแผงโซลาร์เซลล์และค่าติดตั้งที่ปรับลดลงจนทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้นจากเดิมที่คืนทุนในเวลา 9-12 ปี เป็น 6-8 ปีในปัจจุบัน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน) ทั้งนี้ ค่าอุปกรณ์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีการปรับลดลงมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จาก 100 บาทต่อวัตต์ในปี 2558 เป็น 40-50 บาทต่อวัตต์ในปี 2565 และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า โดยการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอินเวอร์เตอร์จำนวนมากจะประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ของบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน อีกทั้งทิศทางอัตราค่าไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ยิ่งทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีอัตราคืนทุนเร็วขึ้น

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบโซลาร์รูฟท็อป ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านการรับซื้อไฟฟ้าตามมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff: FiT) ตั้งแต่ปี 2556 (โดยปัจจุบันอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี) ทำให้การผลิตไฟฟ้าประเภทนี้ยิ่งเป็นที่รู้จักในภาคประชาชนที่นอกจากจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ทางเลือกของครัวเรือนอีกทางหนึ่ง

ชี้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป เติบโตก้าวกระโดด แนะผู้ประกอบการหันมาลงทุนตลาดติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในภาคครัวเรือนและ SMEs

ประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์สูงเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับสภาพอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวนและร้อนอบอ้าว ส่งผลให้ไทยมีความพร้อมทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่จะช่วยดันให้ตลาดติดตั้งโซลาร์รููฟท็อป เติบโตได้ดีในระยะต่อไป

ปัจจุบัน การลงทุนตั้งต้นด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อผลิตแผงโซลาร์เซลล์ค่อนข้างสูง รวมถึงค่าแผงโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่นำเข้าจากจีนถูกกว่าไทย และยังครอบคลุมการรับประกันที่ยาวนาน ตลอดจนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ในระดับครัวเรือนมีการติดตั้งที่ง่ายและให้บริการหลังการขาย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เน้นนำเข้าแผงและให้บริการติดตั้งแก่ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กเป็นหลัก โดยต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 50% มาจากต้นทุนแปรผันที่ผู้ประกอบการสามารถควบคุมได้เอง เช่น งานติดตั้ง ค่าแรงงาน ค่าทำเรื่องขอใบอนุญาตขายไฟคืน และบริการหลังการขายอื่น ๆ ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแสวงหาอัตรากำไรส่วนเกินที่มีความยืดหยุ่นสูงเช่นนี้ได้

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp