วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน

92

ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน

– ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลดลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศจะยังคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยก็ตาม

– หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 26 ส.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.9 แสนบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับลด 3.4 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังปรับลด 1.7 ล้านบาร์เรล

-/+ SOMO ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลอิรัก แถลงว่าเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกน้ำมัน โดยทางบริษัทพร้อมที่จะเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบไปยังยุโรปหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปกพลัสอาจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อพยุงราคา โดยนักลงทุนคอยจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 5 ก.ย. นี้

ราคาน้ำมันเบนซิน – ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปสงค์มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเริ่มเข้าใกล้สู่ช่วงฤดูหนาว ประกอบกับการส่งออกของเกาหลีใต้ที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงอุปทานที่สูงในภูมิภาคจากการเร่งผลิตของโรงกลั่นก่อนหน้านี้

ราคาน้ำมันดีเซล – ปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในเอเชียยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยุโรปยังคงต้องการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากฝั่งเอเชียและตะวันออกกลางเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในภูมิภาค

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์

 

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp