มิติหุ้น – เข้าสู่ช่วงปลายปี 2565 เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2565 หลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 นี้ นับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า เช่น ภัยแล้ง และความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกรณีจีนและไต้หวัน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้เกิดความผันผวนและมีความแตกต่างกันในจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุดกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวตามการลดลงของกำลังซื้อ อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจากราคาพลังงานเป็นหลัก ประกอบกับธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ อยู่ในช่วงเร่งขึ้นดอกเบี้ยซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้อย่างจำกัด ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลบั่นทอนกำลังซื้อของครัวเรือนทั่วโลกโดยรวมและนำมาสู่การปรับลดการจับจ่ายใช้สอย โดยจะสะท้อนได้จากยอดการค้าปลีกทั่วโลกที่มีแรงส่งลดลงในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2565 นี้
นอกจากนี้ การผลิตทั่วโลกก็มีแนวโน้มแผ่วลงด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่เริ่มแผ่วลง และอีกปัจจัยมาจากแนวทางควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดของประเทศเศรษฐกิจหลักในเอเชีย คือ จีน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้กระบวนการผลิตสินค้าบางประเภทโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ในหลายประเทศที่เป็นซัพพลายเชนของจีนเกิดภาวะสะดุดลงในช่วงกลางปี และในระยะต่อไปยังมีโอกาสสะดุดลงได้อีกในช่วงที่เหลือของปีขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงฤดูหนาว สำหรับกรณีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนก็มีส่วนทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดโลหะจากจีนปรับลดลงต่อเนื่องด้วย ซึ่งส่งผลกระทบเกี่ยวโยงไปถึงการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวในบางประเทศ เช่น ไทย
ดังนั้น แรงส่ง (momentum) ของกิจกรรมทางการผลิตในหลายประเทศจึงได้หดตัวแล้วนับแต่ช่วงกลางปี อาทิ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมถึงบางประเทศในยุโรป (อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ) ส่วนการผลิตในสหรัฐอเมริกายังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง นอกจากนี้ ล่าสุดข้อมูลผลสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ก็สะท้อนให้เห็นว่า มีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่แนวโน้มกิจกรรมภาคการผลิตเข้าสู่ภาวะหดตัวเพิ่มเติม อาทิ กลุ่มยูโรโซน โดยเฉพาะเยอรมนี อังกฤษ แคนาดา จีน และเกาหลีใต้
ช่วงที่เหลือของปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกเพิ่มเติม คือ 1) ภัยแล้งรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ราคาอาหารทั่วโลกยังคงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะราคาข้าวโพดที่อาจเร่งตัวขึ้นจากปริมาณการเพาะปลูกที่ไม่เพียงพอ แม้แรงกดดันต่อราคาอาหารโลกโดยรวมอาจลดลงไปบ้างหลังยูเครนสามารถกลับมาส่งออกธัญพืชทางเรือได้อีกครั้ง อีกทั้งภัยแล้งยังส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะในจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อกิจกรรมการผลิตในบางเมืองหลักของจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ อีกด้วย 2) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกรณีจีนและไต้หวัน ซึ่งการตอบโต้ในประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีฐานการผลิตหลักที่ไต้หวัน ดังนั้น จึงเป็นความเสี่ยงที่จะเห็นผลกระทบด้านลบต่อกระบวนการผลิตสินค้าในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ชัดเจนขึ้นในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่นที่กำลังเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าในเมืองสำคัญของทั้งสองประเทศ จึงยังต้องติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่อการผลิตต่อไป
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงสามารถแบ่งกลุ่มเศรษฐกิจแต่ละประเทศทั่วโลกออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกที่แรงส่งทางเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวลง และกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงชัดเจนว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย คือ สหภาพยุโรปและอังกฤษ เนื่องมาจากค่าครองชีพที่เร่งตัวในระดับสูงจากวิกฤตพลังงานในยุโรป ราคาอาหารที่เร่งตัว ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเร็วตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งไทยมีการส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยุโรปสูงถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ราว 16% ของมูลค่าส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวไปทั่วโลก
ด้านนัยต่อการส่งออกสินค้าของไทย เศรษฐกิจคู่ค้าทั่วโลกที่ชะลอตัวลง บนเงื่อนไขที่ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าหมวดอาหาร อาทิ ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง/แห้ง และไก่แปรรูป ซึ่งมูลค่าการส่งออกหมวดอาหารคิดเป็นร้อยละ 20 ของการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics จึงประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทย ณ 7 เดือนแรกที่ขยายตัวดีถึงร้อยละ 11.6 จากระยะเดียวกันเมื่อเทียบกับปี 2564 จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 3.5 ในช่วงห้าเดือนที่เหลือของปี 2565 นี้ และทำให้ทั้งปีการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 8.1 คิดเป็นเม็ดเงินส่งออกที่ 293 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ายังสูงกว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2564 ซึ่งมีอยู่ที่ 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวิเคราะห์ในมิติรายสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศจะเป็นสินค้ากลุ่มที่ใช้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เนื่องจากจะได้รับผลเสียจากปัญหาการสะดุดตัวในซัพพลายเชน (supply disruption) และอุปสงค์ในต่างประเทศที่ลดลง อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติกและโลหะ ก็จะลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม มองว่าผลดีจากการส่งออกสินค้าของไทยที่ยังขยายตัวได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงนั้น ก็จะถูกลดทอนลงจากการนำเข้าสินค้าของไทยที่เร่งตัวสูงกว่าการส่งออกที่ร้อยละ 17.6 ตามการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงาน และการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก และดุลการค้าของไทยก็มีแนวโน้มขาดดุลราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 นี้
@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp