ดับบลิวเอชเอ เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่  จำนวน 600 ไร่ กับบีวายดี ตั้งโรงงานรถยนต์พลังงานใหม่แห่งแรกในอาเซียน ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 คาดเริ่มผลิตปี 2567

161

มิติหุ้น – บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ผู้นำอันดับหนึ่งในการให้บริการโซลูชั่นครบวงจรด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและไฟฟ้า และดิจิทัลแพลตฟอร์มของไทย ประกาศลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ “บีวายดี” จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 11 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย โดยนิคมฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)    การซื้อขายที่ดินกับ บีวายดี ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ของดับบลิวเอชเอ เน้นให้เห็นถึงกลยุทธ์ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการสนับสนุนโครงการอีอีซี และการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve Industry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวลงนามโดยนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มร. เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มร. หลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด และ มร. เค่อ หยู่ปิน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีวายดี  (ประเทศไทย) จำกัด ในระหว่างงานแถลงข่าวพิธีลงนามสัญญา ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ท่ามกลางผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองบริษัท

ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าจำนวน 150,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนและยุโรป

บีวายดี ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2538 ในประเทศจีน และได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่มานานกว่า 20 ปี  โดยเมื่อเดือนเมษายน ปี 2565  บริษัทฯ ได้ประกาศหยุดผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในล้วนแล้ว และจะเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) แทน และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา บีวายดี ได้แต่งตั้งบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (Rêver Automotive Company Limited) ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายของ BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และตั้งเป้ายอดขายปีแรกกว่า 10,000 คัน  บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดยทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มสยามกลการ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ดิฉันขอขอบคุณผู้บริหารของบริษัท บีวายดี เป็นอย่างสูงที่ให้ความไว้วางใจในดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าแห่งใหม่” พร้อมเสริมว่า “การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจและเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป รวมทั้งยังเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทยด้วย  เรามีความยินดีที่ได้ต้อนรับบีวายดี เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งเป็นนิคมฯ แห่งที่ 11 ของเราในประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เพียบพร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส  มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม และทำเลที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์  ทำให้เป็นทางเลือกที่สมบูรณ์แบบสำหรับบีวายดี ในการขยายธุรกิจ และยกระดับความเป็นองค์กรข้ามชาติของบริษัท”

“การซื้อที่ดินอันเป็นยุทธศาสตร์นี้ ยังเป็นการตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย ที่ยังดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่จากประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปมีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยสนับสนุนรัฐบาลไทย ในการก้าวสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโต รวมถึงชื่อเสียงในด้านวิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำ และนวัตกรรมของประเทศไทย” คุณจรีพร กล่าวเสริม

มร. หลิว เสวีเลียง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า “การเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่ในต่างประเทศ ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการขยายบริษัทของเราอย่างแท้จริง” พร้อมเสริมว่า “หลังจากที่ได้ทำการค้นหาและคัดเลือกอย่างละเอียด ประเทศไทยและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้กลายเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของบริษัทในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค  โครงการอีอีซีและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่น ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง  นอกจากนั้นแล้ว ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของบีวายดี และเราหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวอันดีร่วมกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ต่อไปในอนาคต”

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี

นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ล่าสุดของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,281 ไร่ ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ใกล้ทางหลวงหมายเลข 36 และ 3375 ในจังหวัดระยอง และห่างจากท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดเพียง 25 กม. ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 31 กม. และสนามบินอู่ตะเภา 23 กม. ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ” นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และเช่นเดียวกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ของดับบลิวเอชเอ ในประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ยังเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ที่สำนักงานใหญ่ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ย่านบางนา ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำและน้ำเสียที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนระดับน้ำฝน การจัดการจราจร และความปลอดภัย ได้แบบเรียลไทม์

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป กับการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซี

ข้อตกลงการซื้อขายที่ดินระหว่างดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และบริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) ถือเป็นก้าวสำคัญของการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย  ปัจจุบัน บีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการจาก 17 บริษัท คิดเป็นยอดกำลังการผลิตรถไฟฟ้า 830,000 คัน และคาดการณ์ว่าภายในต้นปี 2566 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งล้านคัน และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 700,000 คันต่อปี

 

@mitihoonwealth
https://lin.ee/cXAf0Dp