สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกเดือนสิงหาคมไม่กระเตื้อง ผู้ประกอบการกังวล เงินเฟ้อผลักดันราคาสินค้าสูง และปัญหาด้านแรงงาน

48

มิติหุ้น  –  สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ เดือนสิงหาคมทรงตัวเท่ากับดัชนีเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกเพราะผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มดอกเบี้ยที่จะดีดตัวเพิ่มขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่ประกาศปรับเพิ่มขึ้น 5-8% ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการฟื้นตัวของธุรกิจที่ยังคงต้องใช้เวลา และผู้ประกอบการยังมีความกังวลอย่างต่อเนื่องต่อต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มู้ดในการจับจ่ายไม่คึกคักเท่าที่ควร

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “แม้ว่าผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติ แต่จากผลการสำรวจรอบนี้ของเราพบว่ายอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per Bill) ลดลง ขณะที่ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมทั้งยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-MoM) เดือนสิงหาคมปรับลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต เกิดจากความกังวลต่อภาวะหนี้ครัวเรือน และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคจึงมุ่งเน้นซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็น    ลดการบริโภคฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วนเพื่อการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ โดยนำโครงการ “ช้อปดีมีคืน” กลับมา พร้อมเพิ่มวงเงินเป็น 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง และดำเนินโครงการ “คนละครึ่ง” รวมทั้ง “ไทยเที่ยวไทย” ไว้อย่างต่อเนื่องยาวถึงสิ้นปี”

นอกจากนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “การปรับขึ้นราคาสินค้า และความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ” ของผู้ประกอบการ ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-26 สิงหาคม 2565 ดังนี้

  1. การปรับขึ้นราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า

–          26% จะไม่ปรับราคาสินค้าแล้ว

–          40% จะปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5%

–          17% จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 5-10%

–          5% จะปรับราคาเพิ่มขึ้น 11-15%

–          12% จะปรับราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 15%

  1. ปัจจัยที่สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวธุรกิจ

–          70% เงินเฟ้อที่สูงผลักดันราคาสินค้าสูงขึ้น

–          9% แนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

–          7% การขาดแคลนแรงงาน

–          7% นักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าที่คาด

–          7% การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

“ความกังวลหลักของผู้ประกอบการ คือ การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และปัญหาการขาดแคลนแรงงานตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นราว 1-3% โดยภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 13 ล้านคน  บวกกับการที่แรงงานในระบบหายไปจากการจ้างงานถึง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานในอัตราที่สูงเพื่อจูงใจและทดแทนแรงงานในระบบ ส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการลดลงเฉลี่ย 4-5 %

สรุปภาพรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ ยังคงน่ากังวลถึงสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่มา ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าแก๊ส และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก อีกด้านหนึ่งเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ที่ต้องแบกรับต้นทุนจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและแรงงานที่ขาดแคลน ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ภาครัฐต้องลำดับความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน ด้านผู้บริโภคก็มุ่งเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี  ขณะเดียวกัน ด้านผู้ประกอบการภาครัฐก็ต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มจากการจ้างงาน โดยทดลองประกาศใช้แรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เริ่มจากธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน เพื่อให้เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เติมเต็มแรงงานที่ขาดหายไปในระบบ” นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย

@mitihoonwealth

https://lin.ee/cXAf0Dp